เอเอฟพี - กลุ่มม็อบที่โกรธแค้นรวมตัวกันอยู่ตามถนนสายต่างๆ ในเมืองที่เกิดเหตุจลาจลของพม่าติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันนี้ (22) ขณะที่แรงกดดันจากนานาประเทศต้องการให้ยุติความไม่สงบระหว่างชุมชนครั้งนี้ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 10 คน
บางพื้นที่ของเมืองเม็กทิลา (Meiktila) ในภาคกลางของพม่า เหลือเพียงเถ้าถ่าน ผลจากการปะทะกันระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่ปีก่อน ขณะที่ทางการพยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ให้สงบ
กลุ่มออกมารวมตัวกันบนถนนที่เหลือแต่ซากปรักหักพังอีกครั้งหลังการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนของทางการสิ้นสุดลง
ซากร่างของผู้เสียชีวิตนอนอยู่บนถนนถัดจากรถจักรยานยนต์ที่ถูกเผาเมื่อเย็นวาน ขณะเดียวกัน เปลวเพลิงเผาทำลายมัสยิด และบ้านเรือนหลายหลังในพื้นที่แห่งหนึ่งของเมือง ส่งกลุ่มควันดำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
อังกฤษ สหรัฐฯ และสหประชาชาติ ต่างเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงที่ทางการท้องถิ่นระบุว่า ปะทุขึ้นตั้งแต่วันพุธ จากเหตุทะเลาะวิวาทในร้านทองที่ชาวมุสลิมเป็นเจ้าของจนลุกลามบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ของกลุ่มคนบนท้องถนน
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ เรียกร้องให้ความรุนแรงนี้ยุติลงโดยทันที และกระตุ้นให้รัฐบาลพม่าดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นในการคุ้มครองพลเรือน และทำงานรวมกับชุมชนเพื่อจัดการความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศ คือที่รัฐยะไข่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน และอีกมากกว่า 110,000 คน ต้องไร้ที่อยู่ในปีที่ผ่านมา
องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าจัดการกับความรุนแรงในเมืองเม็กทิลา หรือเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น
“รายงานความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่าง 2 ชุมชน ที่แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ” อิซาเบล อาร์ราดอน รองผู้อำนวยการองค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าว
นายวิน เต็ง สมาชิกสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ระบุวานนี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุไม่สงบในเมืองเม็กทิลา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันตัวเลขดังกล่าวเช่นกัน
ด้านสื่อทางการพม่ารายงานวันนี้ว่า ในเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต 5 คน เป็นพระสงฆ์ 1 รูป ผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 1 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบ 40 คน
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงานการประกาศของทางการที่ระบุว่า มาตรการต่างๆ จะถูกนำมาใช้ดำเนินการกับผู้ที่ก่อให้เกิดการจลาจล
ชาวมุสลิมในพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย จีน และบังกลาเทศ คิดเป็นร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมดราว 60 ล้านคน.