xs
xsm
sm
md
lg

มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไม่สงบในพม่าอย่างน้อย 10 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> กลุ่มควันดำพวยพุ่งขึ้นจากอาคารบ้านเรือนที่ถูกเพลิงเผาไหม้ ในเมืองเม็กทิลา วันที่ 21 มี.ค. สมาชิกสภาในพื้นที่ระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 10 คน เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบครั้งนี้. -- AFP PHOTO/Mantharlay. </font></b>

เอเอฟพี - ประชาชนอย่างน้อย 10 คน เสียชีวิตในเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในภาคกลางของพม่า สมาชิกรัฐสภาในพื้นที่เปิดเผยวันนี้ (21) ถือเป็นความรุนแรงระหว่างชุมชนที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุปะทะกันระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน

นายวิน เต็ง สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ระบุว่า เห็นศพจำนวนมากในจุดที่เกิดการต่อสู้ครั้งล่าสุดในเมืองเม็กทิลา (Meiktila) วันนี้

“มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 10 คน” นายวิน เต็ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวผ่านทางโทรศัพท์จากเมืองเม็กทิลา

เหตุความไม่สงบเริ่มขึ้นในวันพุธ (20) หลังการโต้เถียงในร้านทองที่เจ้าของร้านเป็นชาวมุสลิมได้แปรเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรง ตามการระบุของกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า มีประชาชนประมาณ 200 คน ได้เข้าปะทะต่อสู้กันบนถนน

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่รวมพระสงฆ์ 1 รูป จากบาดแผลไฟไหม้ในการต่อสู้เมื่อวันพุธ ขณะที่มัสยิดหลายแห่งถูกเผาโดยบรรดากลุ่มคนที่โกรธแค้น

ทางการได้ประกาศเคอร์ฟิวในคืนวันพุธ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งในเช้าวันพฤหัสบดี (21) และผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ระบุว่าเห็นศพหลายศพเช่นกัน

“สถานการณ์เลวร้ายลง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถควบคุมประชาชนได้ มีกลุ่มคนหลายกลุ่มอยู่ตามถนนหนทางพร้อมมีด และไม้” ชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าว

ความไม่สงบครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในพม่า ที่เคยเกิดเหตุขัดแย้งระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน และมากกว่า 110,000 คน ต้องไร้ที่อยู่นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2555

นายวิน เต็ง กล่าวว่า มีชาวมุสลิมประมาณ 30,000 คน ในเมืองเม็กทิลา จากประชากรทั้งหมดราว 80,000 คน และไม่เคยมีการปะทะเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเขามาก่อน

“ผมคิดว่ามันเป็นผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน” นายวิน เต็ง กล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นยืนยันว่า ประชาชนบางคนได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ชาวมุสลิมในพม่าส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย จีน และบังกลาเทศ โดยคิดเป็นร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมดเกือบ 60 ล้านคน แม้ว่าพม่าจะไม่ได้สำรวจประชากรในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม

ชาวมุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาในพม่ามาในฐานะแรงงานจากอินเดียระหว่างการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ ที่สิ้นสุดลงในปี 2491 ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ชาวมุสลิมเหล่านี้ไม่ได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคนได้หลบหนีความขัดแย้งด้วยเรือ และมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย ที่คาดว่ามีหลายร้อยคนจมน้ำตายระหว่างทาง

สหประชาชาติระบุให้ชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลก และพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาที่มีอยู่เกือบ 800,000 คน เป็นชาวบังกลาเทศที่อพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และปฏิเสธที่จะรับเป็นพลเมือง

รายงานเบื้องต้นบนเพจเฟซบุ๊กของตำรวจระบุว่า ความโกรธแค้นแพร่ไปทั่วเมืองหลังจากชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างเกิดเหตุโต้แย้งในร้านขายทอง และกลุ่มม็อบได้เข้าไปต่อสู้ในพื้นที่ และทำลายอาคารบางแห่ง ประชาชน 6 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยที่พระสงฆ์ 1 รูป กับชายชาวมุสลิม 1 คน ได้เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในเวลาต่อมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น