.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เว็บไซต์ข่าวกลาโหมชั้นนำของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านย่านเอเชีย ต่างจับตาข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่รายงานโดยเว็บไซต์ “เจนส์” (Jane's Defence) แหล่งข่าวกลาโหมและความมั่นคงที่เชื่อถือได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งหลายฝ่ายกล่าวว่า ถ้าหากเป็นจริงก็จะเป็นรูปธรรมสำคัญของนโยบายคืนสู่เอเชียของสหรัฐฯ
บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีแห่งสหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินรบยุคที่ 5 แบบ เอฟ-15 “ไล้ท์นิ่ง” พิจารณาเสนอขายเรือโจมตีชายฝั่ง หรือ LCS (Littoral Combat Ship) ชั้นฟรีดอม (Freedom-Class) ให้แก่ราชนาวีไทย
เจนส์รายงานเรื่องนี้สัปดาห์ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อ้างการยืนยันของนายดัก ลอเรนโด (Doug Laurendeau) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระบบเรือและอากาศยานของล็อคฮีด มาร์ติน ซึ่งกล่าวว่า เป็นอีกโอกาสหนึ่งของบริษัทในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเสนอขายเรือรบที่ล้ำหน้ารุ่นนี้ เป็นการตอบสนองคำเชื้อเชิญของไทย เพื่อเข้าร่วมเสนอในการจัดซื้อจัดหาเรือฟริเกตใหม่ จำนวน 2 ลำ ซึ่งได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจัดซื้อจากรัฐบาลไทยตั้งแต่เดือน ก.ย.2555 รวมเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์
การซื้ออาวุธเทคโนโลยีสูงจากสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ แม้จะเป็นชาติร่ำรวยมาหาศาลก็จะไม่มีโอกาสเช่นนี้ ถ้าหากไม่สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งสงวนสิทธินี้ไว้ให้แก่ประเทศพันธมิตรนอกค่ายนาโต้ที่มีอยู่เพียง 15 ประเทศ และราชอาณาจักรไทยรวมอยู่ในนั้น
ล็อคฮีด มาร์ตินเองก็ไม่สามารถที่จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ใครๆ ได้โดยลำพัง หากไม่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์กลาโหมในภูมิภาคนี้หลายคนมองว่า นับเป็นโอกาสดีที่สุดของไทยที่จะมีเรือรบรุ่นล่าสุด ทันสมัยที่สุดของสหรัฐฯ ไว้ใช้
และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ไทยก็จะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศแรกๆ ในบรรดาชาติพันธมิตรนอกกลุ่มนาโต้ที่จะมีเรือ LCS ประจำการในกองทัพเรือ
“ล็อคฮีด มาร์ตินดูพร้อมจะเข้าแข่งขัน เพื่อสนองความต้องการเรือฟริเกตกับทั้งเกาหลีและเยอรมนี” เจนส์กล่าว และไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
เป็นที่ทราบกันดีว่า คู่แข่งสำคัญของเรือสหรัฐฯ ที่อยู่ในสายตาของกองทัพเรือไทยคือ เรือ DW3000H ที่ออกแบบโดยแดวูต่อเรือและวิศวกรรมทางทะเล (Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering -DSME) กับเรือตระกูลเมโก (MEKO) ที่พัฒนาโดยกลุ่มธีสเซนครุป มารีน ซีสเต็มส์ (ThyssenKrupp Marine Systems) แห่งเยอรมนี ถึงแม้ผู้สังเกตการณ์บางรายจะเคยลงความเห็นว่า สเปกที่กองทัพเรือไทยกำหนดออกมา เป็นการเข้าข้างเรือรบจากเกาหลีอย่างออกนอกหน้าก็ตาม
แต่หมากต่อรองของกองทัพเรือไทยมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนกระโดดเข้าร่วมวงโดยเสนอเรือ “แบบ 054” (Type 054) พร้อมติดจรวดนำวิถีให้พิจารณาอีกราย เจนส์รายงานเรื่องนี้ แต่ก็ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารเรือของไทย ประสงค์จะซื้อเรือที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ยุโรป หรือเกาหลีมากกว่าด้วยงบประมาณที่ไม่เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์
เรือจีนอาจจะราคาถูกกว่าเรือที่ต่อโดยโลกตะวันตกถึง 4 เท่า แต่คุณภาพเป็นทีน่าสงสัย และกองทัพเรือไทยเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้วเมื่อครั้งให้จีนต่อเรือหลวงชุดนเรศวร-ตากสิน ซึ่งต้องรื้อใหม่ทั้งหมดหลังการส่งมอบ นอกจากนั้น ไทยก็ยังไม่คุ้นกับระบบอาวุธนาวีของจีนโดยสิ้นเชิง
สุดล้ำแห่งยุคสมัย
ลำที่ 2 “ฟอร์ตเวิร์ธ”
เตรียมไปสิงคโปร์
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เจนส์กำลังพูดถึงเรือฟริเกตขนาด 4,300 ตัน “เจียงไค 1” (Jiang Kai 1) หรือแบบ 054A "เจียงไค 2” ขนาด 4,053 ตัน เนื่องจากแบบ 054 ได้เลิกผลิตไปแล้วหลังจากต่อออกมาใช้ได้เพียง 2 ลำ และหันมาต่อเจียงไค 2 เพื่อนำเข้าประจำการแทน โดยติดตั้งระบบอาวุธกับระบบเรดาร์ทันสมัยกว่า
ปัจจุบัน กองทัพเรือจีนมีเรือฟรีเกตแบบ 054A ประจำการ จำนวน 16 ลำ และกำลังต่ออีก 4 ลำ ทั้งนี้ เป็นรายงานในเว็บไซต์ Sino-Defence.Com ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สื่อกลาโหมต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านต่างทราบดีว่า ราชนาวีไทยไม่ใช่ลูกค้าหน้าใหม่ของล็อคฮีด มาร์ติน หากมีความสัมพันธ์ต่อกันมานานหลายสิบปีแล้วผ่านโครงการร่วมมือช่วยเหลือในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ปีที่แล้ว บริษัทนี้ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 ได้ทำการอัปเกรดแล้วเสร็จ และส่งมอบให้แก่กองทัพอากาศไทยล็อตแรก
ในเดือน ก.พ.ปีที่แล้วเช่นกัน ล็อคฮีด มาร์ตินได้ส่งมอบเฮลิคอปเตอร์แบบ MH-60 “ซีฮอว์ก” จำนวน 2 ลำที่กองทัพเรือไทยจัดซื้อ
การพันตูด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทยยังมีลักษณะกระชั้นยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารในปี 2549 เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) สหรัฐฯ เพิ่งประกาศเกี่ยวกับการขายจรวดนำวิถีแบบ ESSM (Evolved Sea Sparrow Missile) ให้กองทัพเรือไทย และนี่คือขีปนาวุธต่อสู้ป้องกันเรือรบดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ซึ่งไทยเป็นเพียง 1 ใน 13 ประเทศที่มีประจำการ
ปัจจุบัน วุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังรอพิจารณาร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งที่จะอนุญาติให้สหรัฐฯ ยกเรือฟรีเกตชั้นเพอร์รีฮาซาร์ดเพอร์รี (Oliver Hazard Perry-Class Frigate) ที่กำลังจะปลดประจำการ 2 ลำให้แก่ราชนาวีไทย “ฟรีๆ” พร้อมกับมิตรประเทศอีก 2 ชาติ ซึ่งแม้จะใช้งานมานาน 2 ทศวรรษ แต่เรือรบชั้นนี้ก็ยังทันสมัย หลังการฟื้นฟู และอัปเกรดก็จะใช้งานต่อไปได้อีก 20 ปี้เป็นอย่างน้อย
สำหรับเรือ LCS ชั้นฟรีดอม ถูกกำหนดให้ใช้รหัสเป็นเลขคี่ คู่ขนานกับเรือชั้น “อินดีเพนเดนซ์” (LCS-2 Independence) ที่ผลิตโดยเจเนอรัล ไดนามิคส์ (General Dynamics) ซึ่งใช้รหัสเลขคู่ ขณะนี้เรือ LCS-1 ลำแรกอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อไปประจำที่สิงคโปร์ในปีนี้ ตามนโยบายกลับคืนสู่เอเชียแปซิฟิกของสหรัฐฯ ล็อคฮีด มาร์ตินกล่าวถึงเรื่องนี้ในเว็บไซต์
อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้เพิ่งจะผลิตเรือชั้นฟรีดอมออกมาเพียง 2 ลำเท่านั้น ลำล่าสุดคือเพิ่งทำพิธีนำเข้าประจำการในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว คือ เรือฟอร์ตเวิร์ธ (LCS-3 Fort Worth) ขณะนี้กำลังต่ออีก 2 ลำ คือ LCS-5 “มิลวอคี” (Milwaukee) กับ LCS-7 “ดีทรอย” (Detroi) ลำต่อๆ ไปในโครงการคือ LCS-9 “ลิตเติ้ลร็อก” (Little Rock) กับ LCS-11 “ซูซิตี้” (Sioux City)
แม้จะได้ชื่อเป็น “เรือโจมตีชายฝั่ง” แต่เรือชั้นฟรีดอมสามารถจัด (Configuration) ได้หลายรูปแบบตามความต้องการใช้งานในทั่วโลก ทั้งในเขตใกล้ชายทวีปและในทะเลหลวง รวมทั้งสามารถติดตั้งระบบอีจิส (Aegis) กับระบบเรดาร์ SPY-1F(V) และ ระบบท่อยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแนวตั้งแบบ MK41 ได้หากต้องการ ล็อคฮีดมาร์ตินกล่าว.
โอกาสอยู่แค่เอื้อม
2
3
4
5
6
7
8
9
10