.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ในระยะ 9 เดือนที่ผ่านระหว่าง เม.ย.-ธ.ค.2555 พม่าส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 1.01 ล้านตัน และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2555-2556 หรือในอีก 3 เดือนที่เหลือ คาดว่าข้าวส่งออกจะมีปริมาณมากที่สุดในรอบ 46 ปี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าเปิดเผยตัวเลขนี้ในวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมพบปะเกี่ยวกับการพัฒนาตลาด และการเก็บรักษาข้าว สื่อของทางการรายงาน
ต่อไปนี้การจัดซื้อข้าวเพื่อจัดเก็บจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับราคาข้าวที่ซื้อจากเกษตรกร ป้องกันมิให้ราคาตกต่ำในฤดูเก็บเกี่ยว อันเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ทำนา คณะกรรมการชุดหนึ่งจะกำกับดูแลเรื่องนี้ นายวินมี้น (U Win Myint) กล่าวในการประชุมที่กระทรวงในเมืองเนปีดอ วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์รายงาน
พม่ากำลังจัดการเรื่องการซื้อ การจัดเก็บกับการส่งออกข้าวอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่สำคัญ กระทรวงจะจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับอีกหลายฝ่ายซึ่งรวมทั้งสมาคมโรงสี และยังจะมีการจัดงานแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์โรงสีข้าว ตลอดจนเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรในเร็วๆ นี้ เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาที่สมเหตุสมผล หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลกล่าว
จากที่เคยมีข้าวไม่พอบริโภคในประเทศเมื่อก่อน พม่าบากบั่นพัฒนาการปลูกข้าวและขยายเนื้อที่นาอย่างกว้างขวางในเขตอู่ข้าวทั่วประเทศ
เพียงไม่กี่ปีนับตั้งแต่รัฐบาลทหารเปิดเมื่อก่อนให้เอกชนจำนวนหนึ่งส่งออกข้าวได้เป็นครั้งแรก ปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีละ 200,000-400,000 ตันในช่วงปีแรกๆ เป็น 700,000-800,000 ตันในช่วงปีหลังๆ นี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตันครั้งแรกในปีงบประมาณ 2555-2556 นี้
ตามรายงานของสื่อในประเทศนี้ หลายปีมานี้กระทรวงที่เกี่ยวข้องประสานมือกันช่วยเหลือชาวนาลดต้นทุนการทำนาข้าว เช่น จำหน่ายปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชในราคาต่ำที่สุด คัดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ และดินในแต่ละภูมิภาค ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูก ปัจจุบัน แปลงข้าวทดลองของกระทรวงเกษตรและกระทรวงวิทยาศาสตร์มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ความพยายามในการคัดพันธุ์ข้าวในช่วงหลายปีมานี้ได้ออกดอกผล ข้าวหอมพม่าได้รับรางวัลข้าวเป็นคุณภาพดีที่สุดในโลกประจำปี 2554 ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมเรื่องข้าวโลกที่จัดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน เส้นทางคมนาคมขนส่งปรับปรุงทันสมัยยิ่งขึ้น ทำให้การค้าข้าวข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรวดเร็วยิ่งขึ้น และรัฐบาลได้ปฏิรูประบบส่งออกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำกับดูแลมิให้ผู้ส่งออกเอารัดเอาเปรียบชาวนา
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เมียนมาร์อาห์ลินก่อนหน้านี้ เมื่อก่อนนี้ การส่งออกข้าวจะต้องส่งผ่านท่าเรือย่างกุ้งเพียงแห่งเดียว แต่ 2-3 ปีมานี้ สามารถส่งออกโดยตรงจากท่าเรือพะสิม (Pathein) ในเขตที่ราบปากแม่นำอิรวดีซึ่งเป็นเขตอู่ข้าวใหญ่ได้โดยตรงอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ช่วยตัดค่าขนส่งข้าวเข้ากรุงย่างกุ้งที่เคยเป็นต้นทุนสูงลิ่วออกไป ทำให้ข้าวพม่าแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในตลาดโลก ขณะที่ชาวนาขายข้าวได้ราคาดียิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว.
.
.