ดีแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กับคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญ 84 วรรค 1 หรือไม่ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของศาล และผู้ร้องมิใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก็จะกลายเป็น“แพะ”ที่จะถูกรัฐบาลโยนความผิดให้ว่าเป็นตัวการที่ทำให้โครงการรับจำนำข้าวล้มเหลว และยังจะถูกโยงไปเป็นประเด็นสงครามชนชั้นระหว่างอำมาตย์กับไพร่ หรือทุนส่งออกข้าวกับชาวนาด้วย
การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องทำให้โครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าต่อไป และเดินไปได้ถึงที่สุด เพื่อที่คนไทยจะได้ประจักษ์ด้วยตัวเองว่าชาวนาไทยจะลืมตาอ้าปากได้จริง หรือ เศรษฐกิจไทยจะหายนะเพราะความฉิบหายอันเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวนี้
จะได้รู้กันเสียทีว่า ที่ว่ากันว่า นช.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เก่งกาจหนักหนาในเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจนั้น เป็นความจริงหรือเป็นเพียงมายาภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาปกปิดพฤติกรรมคดโกงเอารัดเอาเปรียบเท่านั้น
โครงการรับจำนำข้าว หรือที่จริง คือ การรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโดยรัฐบาล เป็นโครงการประชานิยมที่เกือบทุกฝ่ายในสังคมยกเว้นรัฐบาล เห็นพ้องต้องกันว่ามีปัญหา และจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่การทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งได้ส่งผลต่อดุลการค้าแล้ว คือทำให้ไทยขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี และในแง่ของการที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้ในโกดัง ซึ่งจะส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศในไม่ช้า
ไม่เพียงแต่เสียงคัดค้านในประเทศเท่านั้น โครงการรับจำนำข้าวยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กร สถาบันทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ว่าเป็นโครงการที่ล้มเหลวและไร้เหตุผล เพราะหลักการแนวคิดของโครงการนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความเป็นจริงในโลกเศรษฐกิจ
โครงการรับจำนำข้าวนี้จะได้ผลเป็นจริง คือยกระดับราคาข้าวไทยได้ก็ต่อเมื่อในโลกนี้ มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ปลูกข้าวได้ส่งออกได้ ทุกชาติที่กินข้าวเป็นอาหารประจำวันต้องมาซื้อข้าวจากไทย รัฐบาลไทยสามารถตั้งราคาข้าวได้ตามใจชอบ หรือเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นในโลก แหล่งปลูกข้าวใหญ่ๆ ของโลกได้รับความเสียหายยกเว้นประเทศไทยประเทศเดียวที่ได้ผลผลิตมากพอส่งออกได้
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ปลูกข้าวและส่งออกข้าวรายเดียว ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ปลูกข้าวได้มากและส่งออกได้มาก คือ อินเดียและเวียดนาม อีกประเทศหนึ่งที่จะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในเร็วๆ นี้คือ พม่า ข้าวไทยไม่ได้มีคุณภาพเหนือกว่าข้าวจากประเทศอื่นๆ ข้าวหอมมะลิของไทยซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลกถูกข้าวพม่าและข้าวเขมรแซงหน้าไปแล้ว เพราะ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวจำนวนมาก เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาสั้นๆ และรับซื้อข้าวทุกเม็ดในราคาเท่ากันโดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพ
เวลานี้ข้าวไทยจึงขายไม่ออกเพราะมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งเกือบเท่าตัว นั่นคือประเทศอื่นขายในราคาตันละห้าร้อยกว่าเหรียญสหรัฐฯ แต่ของไทยต้องขายในราคาตันละแปดร้อยกว่าเหรียญฯ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นโยบายรับจำนำข้าวให้ชาวนาที่อัตรา 15,000 บาทต่อตันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังทำให้บรรดาผู้ส่งออกข้าวไทย “หมดปัญญา” ที่จะหาผู้รับซื้อในต่างประเทศ และส่งผลให้ข้าวไทยปริมาณกว่า 12 ล้านตันต้องตกค้างอยู่ในโกดังของรัฐ กระทบการส่งออกอย่างเลวร้าย
ขณะที่บรรดานักวิชาการและนักวิเคราะห์ต่างระบุการกำหนดราคาข้าวที่ตันละ 10,000-12,000 บาทน่าจะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า และมีความยั่งยืนมากกว่า แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยซึ่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจากการชูนโยบายดังกล่าวที่ได้รับแรงสนับสนุนแรงงานภาคเกษตรที่มีสัดส่วนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งประเทศ ดูเหมือนจะไม่สามารถหาทางถอยหลังกลับได้ง่ายนักในกรณีนี้ แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายประกันราคาข้าวที่สูงลิ่วนี้เป็นไปเพราะแรงกระตุ้นทางการเมืองมากกว่าความเป็นเหตุเป็นผลทางเศรษฐกิจ
ขณะที่นักวิชาการไทยมองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังผลาญเงินของผู้จ่ายภาษีชาวไทยให้หมดไปกับการซื้อคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับกลุ่มทางการเมืองของตน มากกว่าที่จะใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนาไทย และนโยบายดังกล่าวถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ แม้ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขุนคลังของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะพยายามออกมาแก้ต่างว่านโยบายข้าวของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาจากความซบเซาในตลาดโลก
รายงานของรอยเตอร์สระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยเตือนรัฐบาลไทยผ่านรายงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าโครงการจำนำข้าวจำเป็นต้องถูกจับตาตรวจสอบและปรับปรุงเสียใหม่หากมีความจำเป็นโดยเฉพาะในกรณีของต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เพิกเฉยต่อคำเตือนของไอเอ็มเอฟ โดยต้นทุนการแทรกแซงบิดเบือนกลไกราคาข้าวของรัฐบาลในปีงบประมาณและปีการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับจากเดือนตุลาคม 2011 อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของเป้าการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะของไทยสูงถึงระดับ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว จากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด
ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งพ่อค้าคนกลาง บริษัทรับประกัน เจ้าของโกดัง เจ้าของโรงสี และพวกที่รับจ้างตรวจสอบข้าว ที่ต่างมีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และทุจริตในแทบทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ชาวนาไทยซึ่งควรจะเป็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงกลับต้องยอมขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกันของรัฐบาลกว่าครึ่ง และแทบไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ จากโครงการนี้
ส่วนผลผลิตข้าวที่ควรจะถูกส่งออกไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั้น กลับต้องถูกเก็บแช่อยู่ตามโกดังต่างๆ เพราะขายไม่ออก เนื่องจากไม่มีผู้ซื้อรายใดในตลาดโลกยอมจ่ายเงินที่แพงกว่าเพื่อซื้อข้าวไทยที่ราคาสูงเกินความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาในการหาสถานที่เก็บข้าวเพิ่ม ถึงขั้นต้องขอความร่วมมือจากกองทัพให้ช่วยหาสถานที่รองรับข้าว
อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อโครงการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่พึงปรารถนา นั่นก็คือ “ความพ่ายแพ้” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นจึงแทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะล้มเลิกหรือถอยหลังกลับ แม้ถึงจุดจุดหนึ่งนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเพื่อรักษาคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ต้องยอมแลกมาด้วยสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์อิสระทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็น “ความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ”
สิ่งที่นายกฯ นกแก้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ทำได้ดีที่สุดในเวลานี้คือ โกหกไปเรื่อยๆ หาคำโกหกใหม่ๆ มากลบคำโกหกเดิมๆ
คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รับคำร้องของคณาจารย์นิด้า ให้วินิจฉัยว่า โครงการรับจำนำข้าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของรัฐบาล แต่ความจริงแล้วคือการปิดทางถอย และเป็นการนับถอยหลังแบบไม่รู้ตัวของรัฐบาล