.
วอชิงตัน ดี.ซี. (รอยเตอร์) - ในวันพฤหัสบดีธนาคารโลกได้อนุมัติสินเชื่อกับเงินช่วยเหลือให้เปล่าแก่พม่ารวม 245 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แผนการทำงาน 18 เดือน ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ให้แก่ประเทศนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี อันเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการเปิดศักราชใหม่หลังการปกครองโดยระบอบทหาร
คณะกรรมการของแบงก์โลกได้อนุมัติยุทธศาสตร์ใหม่ในการประชุมในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งจะชี้นำแนวทางการทำงานของสถาบันการเงินแห่งนี้ในพม่า เวิลด์แบงก์ยังอนุมัติเงินช่วยเหลือให้เปล่า 80 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการพัฒนาชนบทอีกด้วย
พาเมลา ค็อกซ์ รองประธานเวิลด์แบงก์ฝ่ายเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกกล่าวว่า พม่าจะได้รับเงินอีก 165 ล้านดอลลาร์ ทันทีเมื่อ การชดใช้หนี้สินที่ค้างอยู่ ราว 400 ล้านดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว การเจรจาหารือเกี่ยวกับการปล่อยกู้ 165 ล้านดอลลาร์จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
“บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ดังกล่าวเราได้เพิ่มการสนับสนุนให้แก่การปฏิรูปที่เราได้เน้นถึง เพื่อสร้างโอกาสต่างๆ ให้แก่ประชาชนชาวพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ยากจน และกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงต่างๆ” นางค็อกซ์บอกกับผู้สื่อข่าวในห้องประชุม
โฆษกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ผู้หนึ่งกล่าวในขณะเดียวกันว่า IMF จะส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้าพม่าในต้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเฝ้าตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ โดยแผนการนี้จะไม่รวมอยู่ในการช่วยเหลือทางการเงิน แต่เพื่อช่วยพม่าจัดการกับปัญหาการเงินในกลุ่มประเทศผู้ปล่อยกู้ หรือ Paris Club of creditors.
หลังการปกครองอันโหดร้ายโดยเผด็จการทหารเป็นเวลา 5 ทศวรรษ พม่าได้ทำให้โลกตะลึงด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การผ่อนคลายการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปขั้นต่อไป
ภาพลักษณ์เลวร้ายของพม่าเปลี่ยนไปจากการปล่อยนางอองซานซูจีพ้นจากการกักบริเวณภายในบ้าน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 ได้ไปเยือนสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นางได้รับรางวัลเหรียญทองรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congress Gold Medal) และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายการคว่ำบาตร และสนับสนุนขบวนการปฏิรูปในพม่า
พม่าเป็นประเทศยากจนอันดับ 2 ในเอเชีย แต่เมื่อเปิดกว้างเศรษฐกิจได้กลายเป็นหน้าด่านสุดท้ายแห่งหนึ่งในเอเชียทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยความรุ่มรวยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านอื่นๆ
“ผมประทับใจการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในพม่า และสนับสนุนให้รัฐบาลผลักดันต่อไปด้วยพลังความพยายาม” นายจิมยองคิม (Jim Yong Kim) ประธานธนาคารโลกกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ยุทธศาสตร์ของเวิลด์แบงก์จะช่วยเหลือพม่าในการบริหารควบคุมเศรษฐกิจ และสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประเทศนี้เพื่อการเติบโตและการสร้างงาน โดยจะเน้นไปยัง 3 ขอบเขตด้วยกันได้ซึ่งก็คือ งบประมาณกับการใช้จ่ายเงินรัฐ การปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อสร้างเสริมความโปร่งใส และการพัฒนาภาคเอกชน
ธนาคารโลกยังเกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งรวมทั้งการตรวจสอบทางการเงิน ตรวจตราการใช้จ่ายของภาครัฐ และการประเมินบรรยากาศของการลงทุน
นางค็อกซ์กล่าวว่า ความพยายามของเวิลด์แบงก์จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศต่อพม่าให้สูงยิ่งขึ้น
ประเทศนี้เพิ่งเปิดตัวเองออกสู่โลกหลังเกือบ 50 ปีของการปกครองโดยทหาร นักลงทุนระหว่างประเทศกำลังเข้าแถวเพื่อเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย บริษัทในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ไทย และอินเดีย ได้นำหน้าการลงทุนจากต่างประเทศในแขนงน้ำมัน และก๊าซ แม้ว่าทั้งเชฟรอน และโตตาลจะมีกิจการอยู่ในพม่าด้วยก็ตาม
“สิ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่เราจะต้องดำเนินการก็คือ ทำให้เกิดมีความโปร่งใสขึ้นที่นั่น” นางค็อกซ์กล่าว ทั้งยังระบุอีกว่า รัฐบาลพม่าได้เริ่มดำเนินการเผยแพร่เกี่ยวกับเงินงบประมาณของรัฐแล้วเมื่อต้นปีนี้
นอกจากนั้น พม่ายังได้ลงนามเข้าร่วมใน Extractive Industries Transparency Initiative หรือ EITI อันเป็นแผนการระหว่างประเทศที่ช่วยประเทศต่างๆ พัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรกับความรุ่มรวยต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย.
.