เอเอฟพี - ผู้นำนักธุรกิจเตือนวานนี้ (4 ก.ย.) ว่า แผนของพม่าสำหรับกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติไม่ได้ให้ความสนใจต่อกิจการขนาดเล็กในประเทศ ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอที่มีวัตถุประสงค์จะฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
ร่างกฎหมายใหม่เสี่ยงที่จะละทิ้งกิจการขนาดเล็กถึงกลาง (SME) ไว้เบื้องหลัง จากการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ สหภาพสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมพม่าระบุ
นายวิน อ่อง ประธานสหภาพสมาพันธ์หอการค้า และอุตสาหกรรมพม่า กล่าวในการแถลงข่าวในนครย่างกุ้งว่า ร่างกฎหมายกำหนดให้บริษัทต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุด 49% ของกิจการร่วมทุน ที่ต้องลงทุนขั้นต่ำที่ 5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า หุ้นส่วนท้องถิ่นจะต้องหาทุนให้มากพอจะถือหุ้นส่วนใหญ่
“ถ้าเป็นเช่นนั้น SME ท้องถิ่นจะเสียบทบาทของตัวเองในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น” นายวิน อ่อง กล่าวและว่า การถือหุ้นจำนวนมากสามารถป้องกันบริษัทขนาดเล็กของต่างชาติได้ด้วยเช่นกัน
กฎหมายลงทุนฉบับใหม่มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมกระแสความสนใจจากบรรดาบริษัทต่างชาติที่มุ่งเป้ามายังพม่าที่อุดมด้วยทรัพยากร นับตั้งแต่ประชาคมโลกเริ่มต้นผ่อนคลายคว่ำบาตรเป็นรางวัลสำหรับการปฏิรูป
“เมื่อบริษัทต่างชาติเข้ามาในประเทศ เราสามารถรับเอาเทคโนโลยี การลงทุน และการเข้าถึงตลาดจากพวกเขา และเราต่างรู้ว่า SME ของเรายังอ่อนแออยู่” นายวิน อ่อง กล่าว
ร่างกฎหมายการลงทุนที่เพิ่งอภิปรายในรัฐสภา และคาดว่าจะผ่านมติในเร็วๆ นี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีลักษณะของการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน
นายซอว์ อู จากสถานบันพัฒนาวาฮู กล่าวว่า อาจจะเกิดปัญหาอย่างมากหากกฎหมายไม่สัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่หลายประเทศไม่กำหนดกฎหมายการถือครองกรรมสิทธ์เข้มงวดเช่นนี้
ด้วยปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มหาศาล และตำแหน่งที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างอินเดีย และจีน ทำให้พม่าถูกมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากสำหรับบริษัทต่างชาติเมื่อประเทศเปิดเข้าสู่โลกภายนอก หลังจากโดดเดี่ยวนานหลายปี
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ให้คำมั่นที่จะมุ่งมั่นเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจในการปฏิรูปประเทศระลอกใหม่ หลังจากปฏิรูปการเมืองนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อปีก่อน
การปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินไปบ้างแล้ว คือ การเริ่มลอยตัวค่าเงินในเดือน เม.ย. และการยกเครื่องระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การค้า และการลงทุน นอกจากนั้น ยังได้เชื้อเชิญบริษัทต่างชาติเข้าลงทุนในภาคเหมืองแร่ และลงนามในข้อตกลงขุดสำรวจจำนวนหนึ่งกับบริษัทต่างชาติ
แต่นักวิจารณ์ระบุว่า ผลตอบแทนของภาคพลังงานของประเทศอาจแบ่งสันปันส่วนกันเพียงแค่ภายในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและผู้ปกครอง มากกว่าที่จะถึงมือคนยากจนในประเทศ.