เอเอฟพี - ตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของเอเชียสองแห่งกำลังต่อสู้แข่งขันกันที่จะเข้ามาครอบครองตลาดเกิดใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในโลกในเวลาที่นักลงทุนมองหาลู่ทางมายังพม่า หลังสิ้นสุดการปกครองโดยทหารอันยาวนานหลายทศวรรษ
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์โตเกียวประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับข้อตกลงกับธนาคารกลางพม่าที่จะเข้าเปิดตลาดหลักทรัพย์ในประเทศร่วมกับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ไดวาของญี่ปุ่น หลังเจรจาหารือกันนานหลายปี และผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของเอเชียแห่งนี้วางแผนที่จะเดินทางเยือนพม่าในปลายเดือนพฤษภาคมเพื่อลงนามข้อตกลงดังกล่าว
แต่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเกาหลีใต้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ก็มีความประสงค์ที่จะเข้าเปิดตลาดหลักทรัพย์ในพม่าเช่นกัน ตามการระบุของโฆษกของตลาดหลักทรัพย์เกาหลีในกรุงโซล และผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเพิ่งจะเดินทางเยือนกรุงเนปีดอเพื่อหารือกับผู้ว่าการธนาคารกลางพม่าเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดเงินทุนของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไป
นายโทนี แนช ผู้อำนวยการจัดการบริษัทให้คำปรึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องการที่จะเปิดตลาดหลักทรัพย์ในพม่าอย่างมากและจะต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อเข้ามาในตลาดแห่งนี้ ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังก้าวนำเกาหลีอยู่ 1 ก้าว เนื่องจากสถาบันวิจัยไดวา หน่วยงานหนึ่งของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ไดวาและธนาคารแห่งชาติพม่าได้ตั้งศูนย์ซื้อขายหุ้นพม่าในลักษณะร่วมทุน 50-50 เพื่อดำเนินการซื้อขายหุ้นผ่านเคาน์เตอร์บนอาคารเก่าหลังหนึ่งในนครย่างกุ้ง ตั้งแต่ปี 2539
แม้ศูนย์ซื้อขายหุ้นแห่งนี้จะมีลูกค้ามาเยือนเพียงไม่กี่คนในแต่ละวัน แต่ตลาดการเงินขนาดเล็กกลับมาพร้อมกับความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ที่ใช้เทคโนโลยีและระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และแม้ว่ามูลค่าการซื้อขายจะอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่ได้เกิดจากการขาดความสนใจ หากเป็นเพราะศูนย์ซื้อขายหุ้นแห่งนี้มีบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียง 2 บริษัท คือ ธนาคาร และบริษัทไม้ซุง ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากเพราะให้ผลตอบแทนสูงประมาณร้อยละ 25-30 ในปีที่ผ่านมา
“การซื้อขายหุ้นมีสัดส่วนน้อยมาก ที่นี่มีผู้ซื้อเยอะแต่ไม่มีผู้ขาย” นายชิเงโตะ อินามิ ผู้อำนวยการจัดการศูนย์ซื้อขายหุ้นพม่ากล่าวในการให้สัมภาษณ์ยังสำนักงานที่มีกระดานขนาดเล็กแสดงราคาหุ้นประจำวันที่พิมพ์อยู่บนกระดาษ
นอกเหนือไปจากความสนใจในหมู่ชาวพม่าด้วยกันแล้ว นักลงทุนต่างชาติต่างต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในประเทศที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรืองรายถัดไปของเอเชียแห่งนี้เช่นกัน เมื่อสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ เริ่มต้นผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า แต่การลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจถูกละเลยที่จะได้รับการจัดการที่ดีภายใต้การปกครองของทหารมานานเกือบครึ่งศตวรรษนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความเสี่ยง
“เนื่องจากสถานที่ตั้ง ประชากร และทรัพยากรของพม่า ทำให้พม่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของบรรดานักลงทุน แต่พม่ายังคงอยู่ในช่วงต้นของกระบวนการปฏิรูปยังมีข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน พม่าอาจยังไม่พร้อมที่จะรองรับคลื่นการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ชาวต่างชาติหวังจะเริ่มต้นที่นี่ได้ทั้งหมด” นายดักลาส เคลย์ตัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทเงินทุน Leopard Capital ที่มีสำนักงานอยู่ในกัมพูชา กล่าว และบริษัทเงินทุนรายนี้มีแผนที่จะตั้งกองทุนในพม่า
นายอินามิกล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมของพม่าส่วนมากอยู่ในความควบคุมของบริษัทที่รัฐบาลหรือคนสนิทเป็นเจ้าของ แม้ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจนำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งรายใหม่ๆ แต่เหมืองทองคำที่แท้จริงคือ น้ำมัน ก๊าซ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล ถือครองโดยบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นป่าไม้ และบริษัทเหล่านี้ไม่น่าที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นของท้องถิ่น หรือหากพวกเขาจดทะเบียนก็อาจไม่ต้องการที่จะขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติในตอนนี้ ขณะเดียวกันยังไม่มีกฎหมายห้ามต่างชาติถือหุ้นพม่า หรือเพียงแค่ถือครองหุ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้บริษัทนั้นเปลี่ยนสถานะไปสู่การเป็นบริษัทต่างชาติที่นำไปสู่ข้อจำกัดต่างๆ เช่นการเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งนายอินามิแนะนำนักลงทุนว่าพวกเขาอาจต้องแต่งงานกับหญิงชาวพม่าและซื้อหุ้นในนามของภรรยาแทน
อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเหล่านี้อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนหาทางที่จะยกเครื่องกฎหมายเก่าที่ถูกร่างขึ้นในสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยเฉพาะกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปลายปีงบประมาณนี้ อาจเป็นหนทางสำหรับบริษัทอีกจำนวนมากที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พม่า ดังที่นายอินามิระบุว่ามีบริษัทดีๆ อีกจำนวนมากในพม่ากำลังรอให้มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบริษัทและกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่.