เอเอฟพี - การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายด้านในพม่าในช่วงที่ผ่านมา กระตุ้นให้บรรดานักลงทุนต่างชาติพุ่งสายตามายังตลาดที่ร่ำรวยและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แห่งนี้
นับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารและดำเนินการปฏิรูป หลังถูกปกครองด้วยระบอบเผดูจการทหารมานานเกือบ 5 ทศวรรษ ชาติตะวันตกต่างพิจารณาที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศไว้ตั้งแต่ปี 2533
เมื่อมาตรการต่างๆ ถูกยกเลิกและบริษัทข้ามชาติได้รับอนุญาตให้เข้าลงทุน บริษัทเหล่านี้จะพบความอ่อนแอของพม่าจากการถูกปกครองโดยทหารมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ และขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งทองคำ ก๊าซ ไม้สัก น้ำมัน หยก และอัญมณี สามารถทำให้พม่าร่ำรวยยิ่งขึ้นเหมือนครั้งก่อนหน้าที่ทหารจะมีอำนาจ
พม่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยแรงงานราคาถูก การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพูดอย่างกว้างขวาง เนื่องมาจากการตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษมากกว่าศตวรรษ และประเทศที่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคนแห่งนี้ ยังเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ทั้งสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคม วัดวาอาราม และชายหาดที่ยังคงความบริสุทธิ์
“จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ไม่มีห้องพักในโรงแรมเหลืออยู่เลยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว” นักธุรกิจชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวรายหนึ่ง กล่าวและว่า การทำธุรกิจกลายเป็นเรื่องง่าย ใบอนุญาตที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงจะได้รับสามารถรับได้ภายใน 1 วัน และหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ กลับได้รับอนุญาตแล้วในตอนนี้
สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.พ. ตามที่นักการทูตรายหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ระบุไว้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯให้คำมั่นว่าจะตอบแทนหากมีการปฏิรูปมากขึ้นกว่านี้
ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่ง ระบุว่า บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปทำธุรกิจควรพิจารณาว่าสภาชุดใหม่ยังไม่ได้ผ่านกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับการลงทุนและฝ่ายตุลาการยังขาดความสามารถและความเป็นอิสระ ที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าสัญญาต่างๆ จะดำเนินไปอย่างถูกต้อง
“กฎหมายล้าสมัยทำให้ผู้คนต้องหาทางออกด้วยตัวเอง พวกเขาไม่ต้องการทำผิดกฎหมายแต่ก็ไม่มีทางเลือก” นายโต นาย มาน บุตรชายของนายฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว
.
.
ในขณะที่เศรษฐกิจนอกระบบเติบโต โดยเฉพาะการค้าตามพรมแดนและการข้ามพรมแดนผิดกฎหมายของบรรดาแรงงานจากพม่าที่ไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และส่งเงินกลับมาบ้านเกิด ระบบธนาคารของพม่ายังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตในปี 2546 และการแลกเงินผิดกฎหมายส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในตลาดมืดดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนทางการเกือบ 100 เท่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทจากชาติตะวันตกไม่กี่บริษัท เช่น บริษัท โททาล บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ยังคงประกอบธุรกิจในพม่าเพราะกรอบมาตรการคว่ำบาตรอนุญาตให้บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการอยู่ในเวลานั้นยังดำเนินต่อไปได้ และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่า แต่ไม่ได้ห้ามการส่งออกสินค้ามายังพม่า
ส่วนบริษัทจากชาติพันธมิตรเอเชีย เช่น จีน และ ไทย ต่างก้าวเข้าไปมีส่วนในโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก และโครงการท่อส่งก๊าซ ขณะที่ประเทศอื่นๆ พยายามเข้ามาเคาะประตูพม่า เช่น รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นได้นำคณะนักธุรกิจเข้ามาสำรวจโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาประกอบการ และกลุ่มผู้บริหารของสหรัฐคาดว่าจะเดินทางมาเยือนพม่าในปลายเดือนนี้เพื่อประเมินภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของพม่าเช่นกัน
“รัฐบาลชุดใหม่ของพม่าพยายามเปิดกว้างและลดข้อจำกัดที่มีอยู่ลง ควบคุมต้นทุนและการทำธุรกรรมด้วยมุมมองที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนและทำธุรกิจ” นายวินสตัน เซ็ท ออง ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเอเชียในนครย่างกุ้ง กล่าว
นายโต นาย มาน ระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าที่บริหารประเทศอยู่ถึงเดือน มี.ค.2553 ได้ดำเนินการโครงการที่จะขายทรัพย์สินของรัฐเช่น สถานีจ่ายน้ำมันและท่าเรือในนครย่างกุ้ง แต่การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานหมายถึงภาคส่วนน้ำมันและก๊าซของประเทศยังคงไม่สามารถทำกำไรได้เพียงพอที่จะดึงดูดยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ
“บางครั้งเราปกป้องผลประโยชน์ของชาติมากเกินไป” นายนาย มาน กล่าว
นายเอกพล จงวิลัยวรรณ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ คาดการณ์ว่า แหล่งทรัพยากรและการท่องเที่ยวจะเต็มไปด้วยการขอใบอนุญาตลงทุนอย่างมากมาย และว่าปัญหาเช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ระบบการจัดการที่ไม่ดี และนโยบายทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เพียงพอ จะต้องได้รับการหยิบยกแก้ไข.