เอเจนซี/เอเอฟพี - รัฐบาลพม่าได้ตัดสินใจอย่างกะทันหัน สั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Industrial Zone) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงการหนึ่งโดยบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ภายหลังมีเสียงร้องเรียนว่าจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อสิ่งแวดล้อม
“เราได้ตัดสินใจยุติโครงการนี้หลังจากได้อ่านเกี่ยวกับความวิตกกังวลด้านสภาพแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น” นายคินหม่องโซ (Khin Maung Soe) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีด้านการพลังงานคนหนึ่งของพม่าบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างบรรยายสรุปในนครย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ (9)
เขาระบุด้วยว่า รัฐบาลยังจะต้องตัดสินใจต่อไปว่าจะให้โรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า คือ 400 เมกะวัตต์ ยุติหรือเดินหน้าต่อ
พวกนักวิเคราะห์มองว่า การระงับโครงการดังกล่าวนี้ เป็นการวาดภาพให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบรรยากาศการดำเนินธุรกิจอันไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าในพม่า ในขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศนี้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง กำลังพยายามหาทางปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนในสายตาของสาธารณชน พร้อมๆ กับที่มุ่งดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังการบริหารอย่างผิดพลาดล้มเหลวมานานหลายสิบปีของคณะผู้ปกครองทหาร
บริษัทในเครือของอิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซึ่งกำลังเป็นหัวหอกทุ่มเงินลงทุนนับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ เข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่าไม่เคยได้รับแจ้งเรื่องระงับการก่อสร้างนี้จากรัฐบาลพม่ามาก่อนเลย
นายตินออง (Thin Aung) ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ทวาย ดีเวลอปเมนต์ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีในวันจันทร์ว่า กลุ่มของเขายังไม่ทราบเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว และการพบหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและพม่าเมื่อวันเสาร์ (7) ที่ผ่านมาก็ “ดำเนินไปด้วยดี”
เขายังกล่าวอีกว่าพวกนักเคลื่อนไหว “ขยายความจนเกินเหตุ” เกี่ยวกับความเสี่ยงของโรงไฟฟ้า
“เราได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจีนแล้ว ผมต้องขอพูดว่าไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไหนปลอดภัย 100% แต่มันจะปลอดภัยอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรจะต้องเป็นห่วง” นายตินอองกล่าว
ทางด้าน นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทในเครืออิตาเลียนไทยแห่งนี้ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคาร (10) โดยแสดงความมั่นอกมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะยังสามารถเดินหน้าต่อไป โดยอาจจะหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทน
“ถ้าหากพวกเขาไม่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน เราก็ต้องมองหาสิ่งอื่นๆ ที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงแทน อาจจะเป็นก๊าซธรรมชาติก็ได้ และเราจำเป็นที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันว่าจะได้ซัปพลายก๊าซเหล่านี้มาอย่างไร” นายสมเจตน์กล่าว
การตัดสินใจระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินคราวนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่ของพม่าก็ได้สั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนมี้ตโสน (Myitsone) ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์มูลค่าสูงถึง 3,600 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุผลเรื่องความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน ความเคลื่อนไหวคราวนั้นได้สร้างความตะลึงงันให้แก่ประเทศจีน พันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของพม่าซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการดังกล่าว แต่ก็ช่วยให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้เครดิตทางการเมืองจากพวกที่ยังระแวงสงสัยความจริงจังในการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลของเขา ทั้งภายในพม่าเองและในต่างประเทศ
ทำนองเดียวกับเขื่อนมี้ตโสน โครงการทวายก็เผชิญแรงคัดค้านหนักจากประชาชนในท้องถิ่นและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนับว่ามีความสำคัญมาก ด้วยขนาดพื้นที่ใหญ่โตถึง 250 ตารางกิโลเมตร และใช้เงินทุน 50,000 ล้านดอลลาร์ โครงการนี้จะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นแหล่งที่มาของรายรับอันสำคัญยิ่งยวดให้แก่รัฐบาลพม่า ซึ่งกำลังต้องการปรับปรุงเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน
ในโครงการนี้จะมีทั้งท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์, โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมี โดยที่วางแผนการเอาไว้ว่าจะดำเนินการพัฒนาเป็น 3 ระยะครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปี 2010 จนถึง 2019 ที่ตั้งของโครงการอยู่ในเขตตะนาวศรี (Tanintharyi) ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในภาคใต้ของพม่า ห่างจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยไปทางทิศตะวันตก 350 กม.
นายธันว์ เหรียญสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่โครงการทวาย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลพม่าจำเป็นที่จะต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น
“ถ้ารัฐบาลพม่าเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันและทำความเข้าใจว่า ทำไมถึงมีการเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน ถ้าหากพวกเขาตัดสินใจที่จะใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นๆ เราก็จำเป็นต้องมาคิดกันในเรื่องราคาค่าไฟฟ้า” นายธันว์บอก
หุ้นของอิตาเลียน-ไทยซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ตกลงราว 1% ในช่วงเช้าของวันอังคารนี้ แต่ไต่กลับขึ้นมาได้บ้างจนตอนปิดตลาดลดลง 0.55%
ในเดือนพฤศจิกายน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้เซ็นความตกลงฉบับหนึ่งกับบริษัทอิตาเลียน-ไทย เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,000 เมกะวัตต์ที่ทวาย สำหรับราคาหุ้นของราชบุรีโฮลดิ้ง ปิดวันอังคารโดยไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน
ภายใต้ความตกลงดังกล่าวบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีจะเข้าถือหุ้น 30% ในโครงการ โดยอิตาเลียน-ไทยถือ 70% ที่เหลือ