xs
xsm
sm
md
lg

ITDลุยโปรเจกต์ทวาย หาพันธมิตรร่วมทุนแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “เปรมชัย” แจงโครงการ “ทวาย” แบบแล้วเสร็จ แผนปี 55 ผุด 6 โครงการ พร้อมเดินสายหาแหล่งเงินกู้ เผยลงทุนก้อนแรก 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท สร้างถนน – ท่าเรือ สาธารณูปโภค ฟุ้งเจบิคสนปล่อยกู้ ยันไม่ต้องเพิ่มทุนหลังขายที่ดินแล้วกว่า 5 หมื่นไร่ พร้อมหาพันธมิตรร่วมทุน เตรียมผุดที่อยู่อาศัยรองรับ 2 ล้านคนในนิคม

นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก “ทวาย” ประเทศพม่า ว่า ปัจจุบันได้ออกแบบโครงการแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนหาเม็ดเงินลงทุนทั้งสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้ร่วมลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในส่วนของระบบสาธารณูปโภค ถนนและท่าเรือ

เนื่องจากโครงการทวาย เป็นโครงการขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ 1.6 แสนไร่ มีอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 1.6 แสนไร่ ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้าน ทาง ITD จึงจดทะเบียนตั้งบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดหรือ (DDC) ขึ้นมาเพื่อดูแลภาพรวมของทั้งโครงการ รวมถึงการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาอีก 18 บริษัทเพื่อทำหน้าที่ดูแลในแต่ธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการทวายจะต้องใช้แหล่งเงินทุนจำนวนมาก แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปิดให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้นใน บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งขณะนี้ ITD ถือหุ้น 100% ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาโครงการทวาย โดย ITD จะคงสัดส่วนการถือหุ้น 60% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร 4-5 รายมีทั้งบริษัทจากไทยและญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผู้ร่วมทุนได้ภายในปี 55 ขณะนี้ได้เปิดให้เอกชนสัญชาติพม่าเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งแสดงความสนใจถือหุ้น 25% ส่วนบริษัทลูก 18 บริษัทนั้น DDC จะเข้าถือหุ้นด้วย แต่อาจจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขึ้นอยู่กับโอกาสทางการลงทุน

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากการขายที่ดินภายในนิคม ซึ่งปัจจุบันมียอดจองแล้ว 5 หมื่นไร่ จากทั้งหมด 1.6 แสนไร่ โดยจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นไป สำหรับราคาขายที่ดินใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมของไทย คือประมาณ 4-6 ล้านบาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับทำเล

**ปี 55 ลุยพัฒนา 6 โครงการ

สำหรับในปี 55 จะพัฒนา 6 โครงการ อาทิ 1. โครงการท่าเรือน้ำลึก พื้นที่ 6,100 ไร่ และถนนจากทวายถึงชายแดนไทยระยะทาง 300 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านเหรีญสหรัฐ ขณะนี้ได้ติดต่อใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ซึ่งทางเจบิคแสดงความสนใจให้สินเชื่อ

2.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน บนพื้นที่ 2,300 ไร่ จำนวน 2 โรง ประกอบด้วย โรงแรกขนาด 400 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มพัฒนาก่อนเพื่อให้มีไฟฟ้าไปใช้ในช่วงแรก และโรง 2 ขนาด 3,600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินทุน 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะได้ข้อสรุปโครงสร้างการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าดังกล่าวภายในไตรมาส 1/55 โดยเบื้องต้น DCC จะถือหุ้น 40%, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ (RATCH) ถือ 30% ขณะที่พันธมิตรที่กำลังเจรจา ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30%

3.โครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กรีดร้อน ใช้ที่ดิน 13,750 ไร่ DCC ถือหุ้น 50% ส่วนที่เหลือจะเปิดให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้น คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า, 4.โครงการออยล์แอนด์แก็ส บนพื้นที่ 8,700 ไร่, 5.โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 17,200 ไร่ และ 6.โครงการผลิตปุ๋ย พื้นที่ 2,400 ไร่ ทั้งหมดอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนคาดสรุปได้ภายในปีหน้าเช่นกัน ส่วนโครงการสร้างทางรถไฟมูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้แผนการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่ขณะนี้สถาบันการเงินจากประเทศจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจปล่อยกู้ ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะใช้จากจีนเนื่องจากให้ข้อเสนอดีที่สุด

***ผุดที่อยู่อาศัยรองรับ2ล้านคน**

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งบริษัท ทวาย เฮาส์ซิ่ง อีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพื่อดูแลการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวพม่าที่ถูกเวรคืนที่ดินในนิคมทวาย ย้ายไปอยู่ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อขายและให้เช่าแก่ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่เข้ามาทำงานในนิคมโดยคาดว่าทั้งโครงการจะมีแรงงานประมาณ 2 ล้านคน โดยจะพัฒนาทั้ง บ้าน คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ บนเนื้อที่กว่า 17,800 ไร่ สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเฟสแรก จะพัฒนาบ้านจำนวน 5,000 ยูนิต อพาร์ตเมนต์ จำนวน 2 แสนยูนิต รวมถึงการพัฒนาโรงแรมระดับ 5 ดาว ติดทะเล จำนวน 1,000 ห้อง มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 55 กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า

“สิ่งที่เราจะได้จากโครงการทวาย 1.ในระยะสั้นจะได้กำไรจากการขายที่ดิน ซึ่งจะเริ่มเข้ามาในปี 55, 2.งานก่อสร้างภายในโครงการทวาย TID จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถทำกำไรได้สูงถึงตัวเลขสองหลัก และในระยะยาวจะมีรายได้จากการลงทุนภายในนิคมแห่งนี้ เช่น โรงเหล็ก โรงไฟฟ้า” นายเปรมชัย กล่าว

นายเปรมชัย กล่าวต่อว่า ในวันที่ 7 มกราคม 55 คณะรัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจะเยื่อนพม่าอย่างเป็นทางการ โดยจะนำโครงการทวายเข้าร่วมหารือด้วย รวมถึงการเข้าไปเจรจากับรัฐบาลพม่า และเจบิค รวมทั้งสถานทูตญี่ปุ่นและแบงก์พาณิชย์ในการเข้ากู้เงินเป็นเงินกู้ระยะเวลา 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 1-2.3% ปลอดภาษีระหว่างก่อสร้าง

“โครงการนี้ถือเป็นการพัฒนาขึ้นมาเพื่อนักลงทุนชาวไทย เพราะทุกอย่างที่จะผลิตในนิคมแห่งนี้ จะส่งกลับไปยังประเทศไทย ซึ่งไม่เสียภาษีส่งออกและนำเข้า เพื่อทดแทนสินค้าที่ไทยสั่งนำเข้าในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อ เพื่อให้ระบบขนส่งสะดวก รวมถึงการสนับสนุนในด้านการเจรจาในระบบรัฐบาลด้วยกัน รวมถึงการเจรจาขอสินเชื่อให้แก่ ITD เพื่อพัฒนาโครงการนี้ให้แล้วเสร็จ” นายเปรมชัยกล่าว

สำหรับผลประกอบการปี 55 ITD อาจไม่ขาดทุนเช่นปีนี้ เนื่องจากมีงานในมือ (backlog) สูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ยังไม่รวมงานก่อสร้างจากโครงการทวาย นอกจากนี้ยังคาดว่าปี 55 backlog ของบริษัทในปีหน้าเพิ่มขึ้นไปถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่เคยมีมา โดยจะมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดง นอกจากนี้ยังมีงานในเวียดนามและลาวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น