xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวสู่ปีแห่งการเผชิญหน้า

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


อยากจะกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่” มายังท่านผู้อ่านอีกสักครั้ง ขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุขทั้งในด้านของสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยทั่วหน้ากัน ปี 2555 ผ่านมาอาทิตย์กว่าๆ เค้าลางของสังคมไทยในปีนี้ แม้พยายามทำความเข้าใจและมองโลกในแง่ดีแค่ไหนก็ตาม มันฝืนความรู้สึกที่มากับข้อมูลรอบด้านไม่ได้ว่า ปีนี้เราจะก้าวสู่การเผชิญหน้ากัน การเผชิญหน้าที่จำเป็นต้องอาศัยความรักความเข้าใจร่วมกันของคนในชาติเท่านั้น ที่จะทำให้การเผชิญหน้าจบลงหรือคลี่คลายไปอย่างที่ไม่ทำให้สังคมบอบช้ำหรือต้องเสียเลือดเนื้อของพี่น้องร่วมสังคม

ผมลองไล่เรียงสนามรบที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า ที่ภาษานักมวยเรียกว่า “แบบหายใจรดต้นคอ” ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง เผื่อจะได้ช่วยกันติดตามหาข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือหนุนช่วยให้การเผชิญหน้ากันในแต่ละเนื้อหาสามารถคลี่คลายลง หรือก่อให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์

1. การเผชิญหน้าในระดับพื้นที่ อันประกอบด้วยความขัดแย้งที่สืบเนื่องกันมาและสัมพันธ์กับปัญหาทางโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง การทำมาหากินของผู้คนในสังคม ทั้งที่เป็นผู้ใช้แรงงาน คนจนในเมืองและเกษตรกรไร้ที่ทำกินในชนบท เหตุการณ์อุทกภัยปลายปีที่ผ่านมาจะเพิ่มปริมาณของผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งมากพอที่จะก่อเหตุการณ์เผชิญหน้าในพื้นที่เมือง จากการว่างงาน การขึ้นราคาสินค้า พลังงานและเชื้อเพลิง

การเผชิญหน้าของเกษตรกรที่ต้องการมีปัจจัยการผลิตคือที่ดินเป็นของตนเอง การถ่ายเทข้อมูลความไม่ชอบธรรมของโครงสร้างในแง่ของการถือครองปัจจัยในการผลิตโดยเฉพาะ “ที่ดิน” ได้แพร่กระจายไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น ทำให้กระแสความไม่พอใจ การเรียกร้องหาความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเผชิญหน้าในเรื่องนี้ไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ กรณี “เขายายเที่ยง” และขยายตัวสู่กรณี “วังน้ำเขียว” จะถูกตรึงให้แต่ละฝ่ายดิ้นไม่หลุด และจะลุกลามไปอีกในปี 2555

2. การเผชิญหน้าอันเกิดจากความขัดแย้งในเป้าหมายและทิศทางการพัฒนา ระหว่างชุมชนอันเป็นเป้าหมายในการถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับเป้าหมาย และทิศทางการพัฒนาตามกระแสหลักกับรัฐหรือเจ้าของโครงการ ความคุกรุ่นจากปี 2554 กรณีแผนพัฒนาต่างๆ ที่มุ่งตอบสนองการพัฒนาไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่หลายๆ พื้นที่ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก เขตนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ

ผลจากพัฒนาการภาคอุตสาหกรรมในอดีตที่ขาดความรับผิดชอบ ส่งผลให้มีตัวอย่างที่เลวร้าย ไม่ว่ากรณีแม่เมาะ มาบตาพุด ล้วนทำให้ชุมชนต่างๆ ขยาดหวาดกลัวและไม่มีความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐที่จะเข้ามาปกป้องดูแลหรือให้ความเป็นธรรมได้ ในขณะที่รัฐก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินงานให้บรรลุตามแผนงาน นโยบายและงบประมาณที่ได้ถูกกำหนดไว้ การเผชิญหน้าระหว่างกันจะปะทุขึ้นทันทีเมื่อมีการขยับจากฝ่ายดำเนินโครงการ ซึ่งเค้าลางที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วก็ได้เปิดหน้าปะทะกันบ้างแล้วประปราย ไม่ว่ากรณีโรงไฟฟ้าที่ชุมพร โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าศาลา หัวไทร และท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ปากบารา สตูล

3. การเผชิญหน้ากรณีปัญหาทางการเมืองที่ต่อเนื่องกันมามี 3 ประเด็นสำคัญ คือ

3.1 กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่มีความพยายามหาช่องทางในการให้อดีตนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้าประเทศโดยปราศจากโทษทางกฎหมายที่ศาลได้พิพากษาไว้ เป็นการหาช่องทาง เหลี่ยมคูทางกฎหมายหรือใช้อำนาจทางการเมืองในขณะที่น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการเรื่องนี้ให้บรรลุผล มวลชนของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะเผชิญหน้ากันอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

3.2 กรณีปัญหาทางรูปธรรมที่ถกเถียงกันถึงความเป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2549 ปัญหานี้ยึดโยงกับหลายๆ ปัญหา ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรม กลไก และการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาอันเป็นสาเหตุของการปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ รูปธรรมของการเผชิญหน้านี้จะออกมาในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเนื้อหา รายละเอียด และวิธีการ ซึ่งจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันของคนในชาติในระดับที่แม้จะยืดหยุ่นได้บ้างจากการประนีประนอมหรือการพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่ก็ยังจะเป็นปมของการเผชิญหน้าอยู่ดี

3.3 กรณีแรงเหวี่ยงจากกระแสทุนนิยมโลก โดยเฉพาะในประเด็นทางเศรษฐกิจที่ระบบทุนนิยมโลกเข้ามามีส่วนกำหนดและกุมสภาพที่ต่อเนื่องมาแต่อดีต การสูญเสียสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารให้ตกอยู่ในมือของต่างชาติ การเข้ายึดครองที่ดินของต่างชาติที่ซ่อนรูปอยู่ในรูปแบบต่างๆ จะถูกนำมาเปิดเผยตีแผ่มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัญหาทรัพยากรที่สำคัญกรณีก๊าซและน้ำมันในทะเล ที่ต่างชาติจ้องตาเป็นมัน และกระชับพื้นที่แวดล้อมรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ร่วมเริ่มจะลงตัว ทั้งฝั่งกัมพูชาและพม่า แต่ผู้คนในสังคมยังคลางแคลงใจถึงผลประโยชน์ของชาติที่จะได้รับว่ามีกี่มากน้อย เพราะผู้คนไม่ไว้ใจพรรคการเมือง นักการเมืองว่าเห็นประโยชน์ของชาติมากกว่าส่วนตัว กรณีนี้แม้จะเป็นการเผชิญหน้าในระดับบน แต่ก็มีโอกาสเป็นกระแสขัดแย้งและเผชิญหน้าในระดับล่างได้เสมอ ด้วยเงื่อนไขการพัฒนาและเติบโตของระบบข้อมูลข่าวสาร

4. กรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปีที่ผ่านมากระแสของความขัดแย้งที่หมักหมมมานานในสังคมไทยในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าปัญหาทางโครงสร้าง ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหยิบยกและขยายผลให้เป็นส่วนสำคัญของปัญหาในสังคมไทย ปัญหาดังกล่าวลุกลามและขยายตัวอย่างรวดเร็วลงไปถึงระดับชุมชนผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ

มีกลุ่มบุคคลทั้งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ฯลฯ ทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดหน้าท้ารบกันทุกสนาม ไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงเดิมๆ ปัญหาถูกยกระดับสูงไปกว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาอื่นใดทั้งหมด เสมือนว่าหากปัญหานี้ได้รับการจัดการแล้วปัญหาอื่นๆ จะหมดไปโดยพริบตา การเผชิญหน้ากันในปี 55 นี้ต่อกรณีนี้นับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่มีโอกาสทำให้สังคมไทยอาจจะเผชิญหน้ากันในระดับที่ทำให้เลือดตกยางออก

ก็ได้แต่หวังในต้นทุนทางสังคมของประเทศ ที่เราเป็นสังคมแห่งพระพุทธศาสนา ที่ไม่เคยมีข้อรังเกียจในความแตกต่างจนนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ) ต้นทุนของประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และหวังในต้นทุนทางคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ประสบการณ์ของผู้คนในสังคมที่ส่วนมากเป็นพลเมืองที่ดี ที่เปี่ยมด้วยความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และไม่เห็นแก่ตัว จะได้ร่วมกันประคับประคองปีแห่งการเผชิญหน้าของสังคมไทยให้ยุติลงอย่างราบรื่น....
กำลังโหลดความคิดเห็น