xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีระบุ ความยากจนในพม่าเสี่ยงต้นเหตุความไม่สงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ทหารพม่าเดินลาดตระเวนผ่านบ้านเรือนที่พังเสียหายในเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ADB ระบุว่า ความยากจนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของพม่า สามารถนำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งขัดขวางกระบวนการปฏิรูปประเทศ การลงทุนเพื่อกระตุ้นผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน สามารถช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนได้. --  AFP PHOTO/STR. </font></b>

เอเอฟพี - ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุวานนี้ (1 ก.ค.) ว่า อัตราความยากจนสูงในกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า สามารถก่อให้เกิดความไม่สงบ และขัดขวางกระบวนการการปฏิรูปประเทศ

การว่างงาน และผลผลิตทางการเกษตรต่ำ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่าตกอยู่ในภาวะยากจน โดย ABD จัดอันดับให้ประชาชนราวร้อยละ 75 ของรัฐชิน เกือบครึ่งของรัฐยะไข่ และ 1 ใน 3 ของรัฐชาน อยู่ในสถานะยากจน

นายสตีเฟน โกรฟฟ์ รองประธาน ADB ระบุว่า ความแตกต่างภายในพม่าสามารถนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบทางเชื้อชาติ และสังคมซึ่งขัดขวางศักยภาพของประเทศ การลงทุนเพื่อกระตุ้นผลผลิตทางการเกษตร และการเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศของบรรดาเกษตรกร สามารถช่วยยกระดับประชาชนหลายล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้

พม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศซึ่งอยู่ระหว่างอินเดีย และจีน ทำให้พม่าเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคประเทศที่รุ่งเรืองหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2486 แต่การจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร ทำให้ภาคการเกษตรของประเทศได้รับความเสียหาย

โกรฟฟ์ระบุว่า พื้นที่ชนบทต้องเชื่อมต่อกับส่วนที่เหลือของประเทศและโลก และระบุว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวในการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พม่ายังขาดปัจจัยพื้นฐาน เช่น เมล็ดพันธุ์ ทำให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกในอนาคตขึ้นอยู่กับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น

การศึกษาของ ADB ระบุว่า การลงทุนที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าของประชาชน จากปัจจุบัน ที่มีประชาชนเข้าถึงเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น รวมทั้งการปรับปรุงการคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

ADB ที่ให้เงินทุนกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ต้องการให้พม่าจัดการกับปัญหาหนี้สินจำนวน 500 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ธนาคารจะสามารถให้พม่ากู้ยืมทุนครั้งใหม่ได้ ซึ่งโกรฟฟ์กล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจใช้เวลาหลายปีกว่าจะแสดงผล

“หากเศรษฐกิจเติบโตที่ร้อยละ 5-6 ต่อปี พม่าจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี ถึงจะอยู่ในระดับเดียวกับเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้” โกรฟฟ์กล่าว พร้อมกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการจะเข้าลงทุนในพม่าสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น