ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มบริษัทซาบ (Saab Group) ผู้ผลิตอากาศยานของสวีเดนตั้งเป้าจะส่งออกเครื่องบินรบ JAS-39 Gripen ยุคใหม่ให้ได้อย่างน้อย 30 ลำ ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ โดยเล็งเป้าหมายทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย บริษัทรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของกลุ่ม อ้างการเปิดเผยของนายเอ็ดดี เดอ ลา มอตต์ (Eddy de la Motte) ผู้อำนวยการฝ่ายาส่งออก
ปัจจุบัน กริพเพนมียอดขาย และยอดสั่งซื้อกว่า 240 ลำ และกำลังประจำการอยู่ใน 6 ประเทศ รวมทั้งกองทัพอากาศสวีเดน และไทยด้วย ส่วนอังกฤษ ซื้อกริพเพนสำหรับเป็นเครื่องบินฝึกนักบินของกองทัพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศอื่นๆ ได้แก่สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และแอฟริกาใต้
รายงานยังระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวจำทำให้ Saab มีส่วนแบ่งราว 10% ในตลาดเครื่องบินรบโลก ขณะที่กลุ่มนี้กำลังเร่งทดสอบเพื่อผลิตกริพเพนยุคใหม่ที่เรียกว่า กริพเพนเอ็นจี (Gripen NG) หรือ New Generation หรือกริพเพน E/F และ MS21ชื่อเรียกทั่วไป
กริพเพน NG ติดเครื่องยนต์ทันสมัยล่าสุดที่พัฒนาต่อจากเครื่องยนต์ F414G ของ บริษัทเยเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้กับ F/A-18E/F “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” เครื่องบินรบอเนกประสงค์
กริพเพนรุ่นปัจจุบัน ติดเครื่องยนต์ Volvo-Flygmotor RM12 โดยบริษัทวอลโว่ ที่พัฒนาจาก F404-400 ของเยเนอรัลอิเล็กทริกภายใต้ลิขสิทธิ์ของวอลโว่ ทำให้ JAS-39 ทำความเร็วสูงสุดได้ 2,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรัศมีทำการราว 3,200 กม. เครื่องยนต์รุ่นใหม่จะทำให้กริพเพน NG เร็วขึ้น
กลุ่ม Saab กล่าวว่า เพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว กริพเพนยุคหน้าจะต้องมีทั้งรุ่นทั่วไป และรุ่นที่สามารถขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินอีกด้วย โดยกองทัพเรืออินเดีย กับกองทัพเรือบราซิลซึ่งต่างก็มีเรือบรรทุกเครื่องบิน อาจจะเป็นลูกค้ารายใหญ่
ไืทยเป็นชาติแรกในย่านเอเชียทีีมี JAS-39 ประจำการ อินเดียอาจจะเป็นประเทศต่อไป โดยอินเดียความสนใจ Gripen NG เพื่อใช้ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่งซึ่งจะเป็นลำที่ 3 ในโครงการเพิ่มขยายขีดความสามารถของกองทัพเรือ ขณะเดียวกัน ก็มีแผนการจะปลดประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินเก่าของอังกฤษที่ใช้งานมานาน และใช้ได้เฉพาะกับอากาศยานที่ขึ้นลงทางดิ่งได้เท่านั้น
เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 คือเรือ “วิกรมทิตย์” (Vikramaditya) อยู่ระหว่างการทดสอบใช้งานจริง และทดสอบระบบอาวุธต่างๆ ในทะเลเหนือ รัสเซียมีกำหนดส่งมอบให้แก่อินเดียในปลายปีหน้าและอินเดียได้เลือกเครื่องบินมิก-29 รุ่นพัฒนาขึ้นใหม่ สำหรับ JAS-39 เป็นเครื่องบินรบขนาดเล็ก ได้เปรียบเรื่องความคล่องตัว สามารถขึ้นลงได้บนทางวิ่งระยะสั้นๆ แม้กระทั่งบนทางหลวง ทำให้สามารถติดอาวุธใหม่ (Re-arm) ได้ในทุกที่ที่การสนับสนุนเข้าถึง โดยไม่จำเป็นต้องบินกลับฐานทัพ
เครื่องบินติดปืนใหญ่อากาศขนาด 27 มม. มีจุดติดอาวุธตามโครงลำตัว และใต้ปีกรวม 8 จุด ทั้งจรวดนำวิถีแบบอากาศสู่อากาศ และอากาศสู่พื้น รวมทั้ง “สมาร์ท บอมบ์” ด้วย เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ประสิทธิภาพสูงมากอีกรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน และมีชื่อเสียงในด้านค่าบำรุงรักษาที่ต่ำมากตลอดอายุใช้งาน ราคาจำหน่ายลำละ 40-60 ล้านดอลลาร์
การซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่เพื่อเข้าแทนที่ฝูงบิน F-5E ของกองทัพอากาศไทยมีการเตรียมการมายาวนาน และมีการพลิกผันมาตามยุคสมัย ก่อนจะลงตัวเป็นเครื่องบินรบของสวีเดน และในที่สุด 6 ลำแรกซึ่งเป็น Gripen C ที่นั่งเดียว และ Gripen D สองที่นั่ง ก็ส่งมอบให้ไทยในเดือน ก.พ.2553 พร้อมสัญญาซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ กับการสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี อีก 6 ลำมีกำหนดส่งมอบปี 2556
การซื้อกริพเพนของไทยยังพ่วงเข้ากับระบบเตือนการณ์ล่วงหน้าทางอากาศ (Aerial Early Warning System) โดยเครื่องบิน Saab 340-AEW AWACS ติดระบบเรดาร์ตรวจการณ์ “อีรีอาย” (Erieye) ซึ่งส่งให้ไทยลำแรกตามกำหนดในเดือน ธ.ค.2553 และลำที่สองในปี 2556
กลุ่มซาบยังเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารบนเรือหลวงจักรีนฤเบศให้แก่ราชนาวีไทยอีกด้วย เพื่อให้สามารถ “ซิงค์” หรือเชื่อมโยงระบบสื่อสาร ระบบบัญชาการ และอำนวยการเข้ากับฝูงบิน JAS-39 กริพเพนทั้ง 12 ลำได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เป็นรายงานใน Defenseindustrydaily.Com เว็บไซต์ข่าวอุตสาหกรรมกลาโหมยอดนิยมแห่งหนึ่ง
ซาบยังรายงานในเว็บไซต์ SaabGroup.Com คาดว่า ไทยอาจจะซื้อกริพเพนถึง 40 ลำในอนาคต.