เอเอฟพี - ชาติสมาชิกอาเซียน กำลังพิจารณาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่เผชิญกับการทำร้าย และถูกสังหารในพม่า
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อาเซียนควรเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ยกระดับขึ้นในเดือน มิ.ย. จากเหตุปะทะรุนแรงที่ทำให้ประชาชนราว 60,000 คน ต้องไร้ที่อยู่ และส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
“ผมได้ทำข้อเสนอไปยังประเทศสมาชิก ซึ่งอาเซียนควรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดังเช่นที่เคย เมื่อครั้งผลพวงจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีส เมื่อกว่า 4 ปีก่อน” นายสุรินทร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยอ้างถึงสถานการณ์พายุพัดถล่มที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือสูญหายราว 138,000 คนในพม่า เมื่อเดือน พ.ค. 2551
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการอาเซียนไม่ได้ระบุรายละเอียด หรือประเทศที่สามารถส่งความช่วยเหลือไปได้ แต่ยืนยันว่า ข้อเสนอการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติสมาชิกอาเซียน และอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ได้เสนอที่จะช่วยเหลือโดยตรงต่อชาวโรฮิงญา
รายงานของทางการพม่าระบุว่า ชาวพุทธ และโรฮิงญาประมาณ 80 คน เสียชีวิต ในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่ทางการระบุไว้
“พม่าที่จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน จะมุ่งความสนใจไปยังวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนงานเพื่อแก้ปัญหา” นายสุรินทร์ กล่าวนอกรอบการเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปีอาเซียน
บังกลาเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีคำสั่งห้ามหน่วยงานระหว่างประเทศ 3 หน่วยงาน จัดหาความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หลบหนีมาจากพม่า
การเลือกปฏิบัติที่ยาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติ ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก
รัฐบาลพม่า กำหนดให้ชาวโรฮิงญาที่มีอยู่ในประเทศราว 800,000 คน เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ชาวพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และเป็นศัตรู.