เอเอฟพี - พม่าให้คำมั่นวันนี้ (17 มิ.ย.) ที่จะตามล่าผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน 50 คน ในเหตุปะทะขัดแย้งทางศาสนาในรัฐยะไข่ ขณะที่ความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เร่งดำเนินการไปสู่ประชาชนหลายหมื่นคนที่ต้องอพยพย้ายที่อยู่จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
ประชาชนมากกว่า 30,000 คน ทั้งชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญาต่างต้องอพยพย้ายที่อยู่หลังบ้านถูกเพลิงเผาไหม้เสียหายระหว่างเหตุจลาจลและการโจมตีแก้แค้นในรัฐยะไข่ เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ สื่อทางการของพม่ารายงาน
สหประชาชาติเตือนว่าประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัส ขณะเดียวกับช่วงเวลาของฤดูมรสุมที่เต็มไปด้วยพายุฝน ข้าว น้ำ และที่พัก กำลังถูกจัดส่งไปยังเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ห่างไกลอีกจำนวนมาก
ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ทำให้ชุมชนต่างๆ แตกแยกทั้งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายปี และยังบั่นทอนความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างความปรองดองในชาติ
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงานวันนี้ (17) ว่า หลังจากรัฐมนตรีพม่าได้เดินทางเยี่ยมพื้นที่ ได้ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะนำความยุติธรรมและนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยปราศจากอคติ
"ความไร้ระเบียบไม่เคารพกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ รัฐบาลจะนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและฟื้นคืนความมั่นคงให้กลับมาโดยเร็วที่สุด" รายงานอ้างคำกล่าวของพลโทเต็ง เตย์ รัฐมนตรีสหภาพเพื่อกิจการพรมแดนและการพัฒนาอุตสาหกรรมพม่า
เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ทำให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวเตือนถึงความอันตรายของการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปประเทศ ขณะที่พม่าหลุดพ้นจากการปกครองระบอบทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษ
ด้านสหประชาชาติประเมินว่า ในเมืองซิตตะเว มีประชาชนราว 10,000 คน ต้องการที่พักชั่วคราวและอาหารอย่างมากหลังความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน
เจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับองค์กรเอกชนและผู้บริจาคท้องถิ่นได้จัดหาอาหาร น้ำ และที่พัก ให้กับประชาชน ส่วนเจ้าหน้าที่ในรัฐยะไข่กล่าวว่า ประชาชนหลายพันคนต้องอาศัยเต็นท์พักแรมหลังหลบหนีออกจากบ้านที่ถูกเพลิงไหม้
หน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติที่เป็นหนึ่งในผู้ที่จัดหาอาหารให้กับผู้คน แสดงความกังวลว่าความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ไม่เพียงพอที่จะไปถึงยังพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในช่วงมรสุมเช่นนี้
นับเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษของการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา ไร้สัญชาติ และสหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก และรายงานระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 800,000 คน อาศัยอยู่ในพม่า ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่
รัฐบาลพม่ากำหนดให้ชาวโรฮิงญาเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ชาวพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และมองว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นศัตรู.