.
เอเอฟพี - ประชาชนมากกว่า 30,000 คน ต้องย้ายที่อยู่อาศัยเพราะการปะทะกันทางศาสนาอย่างรุนแรงในภาคตะวันตกของพม่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอาวุโสของพม่า ระบุวันนี้ (14 มิ.ย.)
ประชาชนเกือบ 31,900 คน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่าย 37 แห่ง ทั่วรัฐยะไข่ พล.อ.เต่ง ลิน รัฐมนตรีรักษาความปลอดภัย และกิจการพรมแดนประจำรัฐ กล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า เมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่กลับสู่ความสงบแล้ว
พล.อ.เต่ง ลิน ระบุว่า ประชาชน 29 คน เป็นชาวมุสลิม 16 คน และชาวพุทธยะไข่ 13 คน ถูกสังหาร ตั้งแต่วันศุกร์ (8 มิ.ย.) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนเกือบ 2,600 หลังถูกเผาทำลายทั่วรัฐ
การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้มีขึ้นในการแถลงข่าวครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ในเมืองซิตตะเว นับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบตั้งแต่วันศุกร์เป็นต้นมา ที่ชาวพุทธ และชาวโรฮิงญาต่างกล่าวหากันไปมาว่าเป็นผู้โจมตี
นับเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษของการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติ และสหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก และรายงานระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 800,000 คน อาศัยอยู่ในพม่า ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่
รัฐบาลพม่ากำหนดให้ชาวโรฮิงญาเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ชาวพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และมองว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นศัตรู
นายหล่า เต็ง หัวหน้าผู้พิพากษาประจำรัฐระบุว่า ไม่มีใครชนะ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากความรุนแรง สิ่งที่ได้คือ ผู้ลี้ภัย ทุกคนมีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก แต่เป็นเรื่องยากที่จะหารือถึงสันติภาพเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน.
.
2
3
4
5
6
7
8