เอเอฟพี - ศาลอาชญากรรมสงครามที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนของกัมพูชาในวันนี้ (30 ก.ค.) ระบุว่า ได้แต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่จากสหรัฐฯ ให้ทำหน้าที่สืบสวนคดีเขมรแดง 2 คดี ที่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากรัฐบาลกัมพูชา หลังจากผู้พิพากษา 2 คนก่อนหน้า ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วง
คำแถลงฉบับหนึ่งของศาลระบุว่า กัมพูชาอนุมัติเห็นชอบต่อการตัดสินใจของสหประชาชาติที่จะจ้างนายมาร์ค ฮาร์มอน ซึ่งตรงข้ามกับผู้พิพากษาคนก่อนหน้าที่ทำหน้าที่เดียวกันนี้ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกัมพูชา
มาร์ค ฮาร์มอน เป็นอดีตพนักงานอัยการของสหรัฐฯ และยังทำหน้าที่ในฐานะอัยการอาวุโสที่คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) ในกรุงเฮก เป็นเวลา 17 ปี
ฮาร์มอนจะกลายเป็นผู้พิพากษาต่างชาติคนที่ 3 ในช่วงเวลาไม่ถึงปี ของความพยายามที่จะสืบสวนคดีใหม่ 2 คดี ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย 5 คน ซึ่งเชื่อมโยงกับช่วงการปกครองอันโหดร้ายระหว่างปี 2518-2522 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน
“การแต่งตั้งนายมาร์ค ฮาร์มอน จะช่วยให้ศาลสามารถดำเนินภารกิจสำคัญในการหาผู้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น ระหว่างช่วงเวลาการปกครองของเขมรแดงต่อไปได้” ส่วนหนึ่งในคำแถลงระบุ
รัฐบาลกัมพูชาคัดค้านอย่างนักในการขยายผลสืบสวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มในการพิจารณาคดีที่ 2 ต่ออดีตแกนนำเขมรแดง 3 คน โดยกล่าวว่า การดำเนินคดีครั้งใหม่สามารถทำลายเสถียรภาพของประเทศได้
ผู้พิพากษาสอบสวน ซิกฟรีด บลังก์ ชาวเยอรมัน ลาออกจากตำแหน่งในเดือน ต.ค. โดยอ้างว่า รัฐบาลขัดขวางการทำงานใน 2 คดีใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกเขมรแดงระดับกลาง 5 คน ในข้อกล่าวหาการสังหารหมู่ และบังคับใช้แรงงาน
นายโลร็องต์ กาส์เป-อองแซร์เมต์ ผู้พิพากษาสำรองชาวสวิส เป็นตัวเลือกของสหประชาชาติที่ให้เข้ามาทำหน้าที่แทนนายบลังก์ แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธที่จะรับรองการแต่งตั้งดังกล่าว
ผู้พิพากษาชาวสวิสที่มุ่งมั่นจะทำหน้าที่สอบสวนคดีอย่างเต็มที่ แต่สุดท้าย ได้ตัดสินใจลาออกจากศาลในเดือน พ.ค. โดยกล่าวว่า เขาถูกขัดขวางการทำงานทุกทางจากผู้ร่วมงานชาวกัมพูชา และต้องทำงานอยู่ในสภาพแวด้อมที่ไม่เป็นมิตร
ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาระบุในเวลานั้นว่า นายกาส์เป-อองแซร์เมต์ ทำผิดหลักจริยธรรมเนื่องจากใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ดึงดูดความสนใจต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคดีใหม่นี้
ศาลเขมรแดงตั้งขึ้นเพื่อหาความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนในยุคเขมรแดงครองอำนาจ และนับตั้งแต่ก่อตั้งศาล เพิ่งพิจารณาตัดสินคดีเสร็จสิ้นไปเพียงคดีเดียว โดยตัดสินให้อดีตผู้บัญชาการเรือนจำจำคุกตลอดชีวิต.