เอเอฟพี - รัตโก มลาดิก อดีตผู้บัญชาการทหารของเซอร์เบีย ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศของยูเอ็น ณ กรุงเฮก วันนี้ (16) ในการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดเหี้ยมทารุณ และการสังหารหมู่ครั้งร้ายแรงที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
มลาดิก วัย 70 ปี ถูกสั่งฟ้องรวม 11 ข้อหา ทั้งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากบทบาทการเป็นผู้นำในสงครามอันโหดเหี้ยม ปี 1992-1995 ที่คร่าชีวิตผู้คนร่วม 100,000 ราย และทำให้อีกกว่า 2.2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
“รัตโก มลาดิก ยอมรับบทบาทที่มีเป้าหมายทางอาชญากรรมในการล้างบางเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย” อัยการเดอร์มอต กรูมกล่าวต่อคณะผู้พิพากษา ขณะเปิดศาลอาญาพิเศษระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย หรือไอซีทีวาย ในกรุงเฮก
อัยการกรูมกล่าวว่า การดำเนินคดีในวันนี้จะเสนอหลักฐานซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาชญากรรมแต่ละอย่างนั้นเป็นฝีมือของมลาดิกอย่างไม่มีข้อสงสัยที่เป็นเหตุเป็นผล หลังจากในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว อดีตผู้นำเซอร์เบียรายนี้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ขณะที่ด้านนอกของศาล กลุ่มสตรี 25 คน ขององค์กร “มาเธอร์ส ออฟ เซเบรนิกา” ตัวแทนของหญิงม่าย และเหยื่อการสังหารหมู่ในเมืองเซเบรนิกา ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วง โดยระบุว่า มลาดิกคือฆาตกรรายใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน และในโลก
ทั้งนี้ มีชายและเด็กชาวมุสลิมเกือบ 8,000 คน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ขณะที่กองกำลังบอสเนีย-เซิร์บ
ภายใต้การบัญชาการของนายพลมลาดิกบุกเมืองเซเบรนิกา ซึ่งถือเป็นความป่าเถื่อนที่สุดที่เกิดขึ้นในยุโรป
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อัยการยังกล่าวต่อศาลว่า มลาดิกเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการล้อมโจมตีกรุงซาราเยโวเป็นเวลานาน 44 เดือน ซึ่งกองกำลังของเขาใช้วิธีกราดยิง และซุ่มโจมตี ที่ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 10,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ในการทำสงคราม “เกรตเทอร์ เซอร์เบีย” นี้ มลาดิกยังถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้ทหารล้างบางเมืองอื่นๆ ของบอสเนีย ขับไล่ชาวโครแอต มุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่ชาวเซิร์บออกไปจากพื้นที่ด้วย
หลังสงครามดังกล่าว มลาดิกยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ต้องหลบซ่อนตัวในปี 2000 หลังรัฐบาล
สโลโบดัน มิโลเซวิก ซึ่งเป็นพันธมิตรของเขาในเซอร์เบีย ล่มสลาย จนกระทั่งถูกสั่งฟ้องในข้อหาอาชญากรสงคราม
เขาหลบหนีจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี 2011 ก็ถูกจับที่บ้านของญาติ ในเมืองลาซาเรโว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบีย และถูกพาข้ามประเทศเข้าเรือนจำในกรุงเฮก ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น