เอเอฟพี - กระแสความนิยมในตัวผู้นำสหรัฐฯ เริ่มจืดจางในต่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประธานาธิบดี บารัค โอบามา คงไม่อาจหวังพึ่งแรงหนุนจากทั่วโลกได้มากนักในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นปลายปีนี้ ผลสำรวจเผยวานนี้ (19)
คะแนนนิยมทำเนียบขาวในเซอร์เบียและอิหร่านมีอยู่ไม่ถึง 10% ขณะที่อินเดีย, ไซปรัส, เบลารุส และอียิปต์ ล้วนแต่ให้คะแนนการทำงานของโอบามาต่ำกว่าเกณฑ์ดีทั้งสิ้น
โดยภาพรวมแล้ว เรตติ้งเฉลี่ยของทำเนียบขาวจากการสำรวจใน 136 ประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 46% ในปี 2011 ลดลงเพียงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ซึ่งรัฐบาลโอบามามีคะแนนนิยมราว 47% จาก 116 ประเทศ และก็ยังสูงกว่าเรตติ้งช่วงปีท้ายๆ ของรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
อย่างไรก็ตาม เมื่อนับเฉพาะ 116 ประเทศที่เคยสำรวจเมื่อปี 2010 กลับพบว่าคะแนนนิยมในตัวโอบามาลดจาก 47% มาอยู่ที่ 43% เท่านั้น
“เรตติ้งของผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2011 ยังไม่ฟื้นจากความตกต่ำเมื่อปี 2010 แถมยังหยุดนิ่ง และหดลงในบางกรณีด้วย” รายงานยูเอส-โกลบอล ลีดเดอร์ชิป รีพอร์ต ซึ่งออกโดยศูนย์วิจัยแกลลัป และเมอร์ริเดียน อินเตอร์เนชันแนล เผย
กระแสนิยมโอบามาแข็งแกร่งที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยได้อานิสงส์จากเสียงเชียร์ของประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ทว่าเรตติ้งจากตอนเหนือกลับไม่สวยหรูนัก
ในอียิปต์ มีประชาชนเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่พอใจสหรัฐฯ ซึ่งไม่แตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก แม้ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค จะพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ตาม
ในภูมิภาคยุโรป คะแนนนิยมในตัวโอบามายังแตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่ให้เรตติ้งสูงและต่ำที่สุดล้วนอยู่แถบคาบสมุทรบอลข่าน ชาวโคโซโวให้การยอมรับรัฐบาลโอบามาถึง 90% ขณะที่ชาวเซอร์เบียให้คะแนนแค่ 8% เนื่องจากวอชิงตันให้การสนับสนุนโคโซโวซึ่งต้องการเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย
แม้ตัวเลขเรตติ้งของโอบามาจะเพิ่มขึ้นถึง 2 หลักในอังกฤษ และเบลเยียม ทว่ากลับตกต่ำลงด้วยอัตราพอๆ กันในฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน และสวีเดน
ในส่วนของเอเชียซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อจากนี้ คะแนนนิยมของโอบามาก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศเช่นกัน โดยชาวอินเดียให้คะแนนแค่ 18% ตรงข้ามกับสิงคโปร์ซึ่งสนับสนุนถึง 75% ขณะที่อิหร่านซึ่งถูกจับตาโครงการนิวเคลียร์อยู่ ให้เรตติ้งวอชิงตันเพียง 9% เท่านั้น