เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ชี้สภาพอากาศในยุโรปแถบตะวันตกเฉียงเหนือ และคาบสมุทรบอลข่าน กำลังเปลี่ยนแปลงจนอาจเหมาะสำหรับยุงลายจากเอเชีย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
คำเตือนดังกล่าวมาจากนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ซึ่งกล่าวว่า ทั้ง 2 ภูมิภาคนั้น มีฤดูหนาวที่ค่อยๆ อบอุ่นขึ้น ส่วนฤดูร้อนก็ไม่ร้อนจัด สภาพอากาศเช่นนี้เอื้อต่อยุง ที่เคยมีถิ่นอยู่ในแอลเบเนีย เมื่อปี 1979 และในเวลานี้แพร่หลายอยู่ใน 15 ประเทศยุโรปตอนใต้
พวกเขาระบุว่า ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศแถบยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เบเนลักซ์ เยอรมนีตะวันตก และคาบสมุทรบอลข่าน เริ่มที่จะเหมาะกับยุงลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน สภาพอากาศแห้งแล้งในสเปนตอนใต้กลับไม่ต้อนรับแมลงเหล่านี้เท่าไรนัก
ยุงลาย (Aedes albopictus) มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่โซนร้อน และกึ่งร้อน บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ไวรัสเซนต์หลุยส์ ไข้เหลือง ไข้เลือดออก และอื่นๆ
ในปี 2005-2006 ที่ผ่านมา ยุงชนิดนี้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยา ซึ่งทำลายข้อต่อต่างๆ บนเกาะรียูเนียนของฝรั่งเศส ในมหาสมุทรอินเดีย ปีต่อมา ยุงดังกล่าวก็เป็นตัวการโรคเดียวกัน ที่ระบาดในจังหวัดราเวนนาของอิตาลี และในปี 2010 ก็ยังถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกในฝรั่งเศส และโครเอเชียด้วย
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยุงลายก็ไปปรากฏไปทั่วภูมิภาค ในมากกว่า 15 ประเทศ ตั้งแต่สเปนตอนใต้ หลายส่วนของกรีซ และตุรกี ตามข้อมูลของศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อยุโรป (อีซีดีซี)
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากลิเวอร์พูลเขียนรายงานลงวารสารรอยัล โซไซตี อินเทอร์เฟซของอังกฤษ ได้ศึกษาข้อมูลสภาพอากาศในยุโรปตั้งแต่ปี 1950-2009 และจำลองแนวโน้มลักษณะภูมิอากาศในปี 2030-2050 ด้วยคอมพิวเตอร์
“แนวโน้มเดียวกันนี้น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในยุโรปเหนือ และความเสี่ยงที่ค่อยๆ ลดลงในยุโรปใต้” รายงานดังกล่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ชี้ว่า สภาพอากาศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้แมลงชนิดนี้แพร่ระบาดไปยังภูมิภาคดังกล่าว แต่ยังรวมถึงพืชผัก หรือแม้แต่ชนิดของดิน ที่กำหนดว่ายุงดังกล่าวจะสามารถแพร่พันธุ์ที่นั่นได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ ช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ยุงลายจำกัดอยู่แค่บางส่วนของภูมิภาคเอเชีย อินเดีย และเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วจึงเริ่มแพร่ขยายไปยังอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับยุโรป ส่วนใหญ่เดินทางโดยอาศัยการส่งออกสินค้า