xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนักข่าวฯ ห่วงสื่อเติมไฟขัดแย้ง-เตือนสมาชิกยึดหลักจริยธรรม ระมัดระวังข่าวอ่อนไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทวิตเตอร์ของช่องระวังภัย เมื่อเช้าที่ผ่านมา
กก.ควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ห่วงสื่อเติมไฟความขัดแย้ง ยกกรณี “ช่องระวังภัย” ตั้งคำถามผู้ชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ถนน ใช้ความรู้สึกส่วนตัว ย้ำสมาชิกทำตามข้อบังคับสมาคมฯ ข้อ 7 ยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ ระมัดระวังการรายงานข่าวในสถานการณ์อ่อนไหว

วันนี้ (1 มิ.ย.) คณะกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การรายงานข่าวสถานการณ์ชุมนุม” ความว่า จากเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นับตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และโดยเฉพาะการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีแนวโน้มบานปลายเป็นสถานการณ์ยืดเยื้ออันสืบเนื่องมาจากการชุมนุมของประชาชนที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกอรปกับบทเรียนที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากสถานการณ์ในอดีต

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีความห่วงใยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกอันเนื่องมาจากการรายงานข่าวเชิงแข่งขัน การใช้ความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ตั้งคำถามทำนองการชุมนุมเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และไม่ตรวจสอบข่าวที่อ่อนไหวต่อสังคม

จึงขอให้สมาชิกระลึกถึงหน้าที่ของตนตามข้อบังคับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ข้อ 7 ที่ให้ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ และระมัดระวังการรายงานข่าวในสถานการณ์อ่อนไหว ดังนี้

(1) กรณีข่าวสารที่ล่อแหลมต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน สมาชิกพึงใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษในการนำเสนอ และยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ

(2) คำนึงถึงอยู่เสมอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ย่อมสะท้อนฝักฝ่าย สมาชิกพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและต้องไม่เป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคม

(3) สมาชิกพึงระมัดระวังการตกเป็นเครื่องมือในการรายงานข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดของประชาชน และส่งผลให้สถานการณ์บานปลาย

(4) การรายงานข่าวที่บริบทมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเป็นการรายงานบนสื่อสังคมออนไลน์ ควรระบุวัน เวลา และสถานที่ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจากประชาชนผู้รับสารอันเนื่องมาจากเวลา สถานที่ และเหตุการณ์ต่างกัน

(5) การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ สมาชิกพึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อมูลใดเป็นข่าว และข้อมูลใดเป็นความเห็นและเมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดใดอันเนื่องมาจากการนำเสนอ สมาชิกพึงแก้ไขและนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทันที

อนึ่ง เมื่อเช้าที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ของสถานีโทรทัศน์ช่องระวังภัย (@rawangpai) ในเครือเนชั่น ได้ทวีตข้อความว่า “พันธมิตรออกมาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนผู้ใช้ถนนคุณคิดว่าเหมาะสมหรือไม่”ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสมในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งต่อมาได้มีการลบข้อความดังกล่าวออก และกอง บก.ระวังภัยได้ทวิตข้อความชี้แจงยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นการตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสม และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

กำลังโหลดความคิดเห็น