.
วอชิงตัน (รอยเตอร์) - นางอองซาน ซูจี สัญลักษณ์ประชาธิปไตยในพม่า จะได้รับเกียรติให้เข้าปราศรัยในที่ประชุมทั้งสองสภาของอังกฤษ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก เมื่อไปเยือนอังกฤษในเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี เจ้าหน้าที่กล่าว
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้รับคำเชิญของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน สำหรับการเยือนครั้งนี้ และจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 18 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งที่ติดตามนายคาเมรอน ไปร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 8 ประเทศในสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจี กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า หัวหน้าพรรคจะไปเยือนนอร์เวย์ และอังกฤษในเดือน มิ.ย. แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอังกฤษออกมายืนยันในเรื่องนี้
นางซูจีจะเข้าปราศรัยต่อการประชุมของทั้งสองสภาระหว่างอยู่ที่นั่น อันเป็นเกียรติที่หาได้ยาก ที่ผ่านมา ผู้ได้รับเกียรตินี้ คือประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ และ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อเดือนที่แล้ว
การเดินทางของนางซูจี นับเป็นการรวบยอดของการเปลี่ยนแปลงในพม่า ซึ่งรวมทั้งการเลือกตั้งซ่อมครั้งประวัติศาสตร์วันที่ 1 เม.ย. ที่นางซูจีได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรที่มีอายุ 1 ปี ที่ได้เข้าแทนที่ระบอบทหารอันกดขี่ และปกครองประเทศมานาน 5 ทศวรรษ
คาดว่าการเยือนอังกฤษครั้งนี้ จะรวมทั้งการไปเยือนเมืองออกซฟอร์ด ซึ่งนางซูจีได้เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่นั่นในช่วงทศวรรษที่ 1970
ปัจจุบัน อายุ 66 ปี ถูกคุมขังครั้งแรกในปี 2532 และในช่วง 21 ปีถัดมา ถูกกักบริเวณในบ้านพักรวมเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งได้เป็นอิสระในเดือน พ.ย.2553 ในช่วงสั้นๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ นางปฏิเสธที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับพม่าอีก
.
.
นายคาเมรอนได้เชิญนางซูจีไปเยือนอังกฤษ เมื่อได้พบกันในเดือน เม.ย.ในกรุงย่างกุ้ง นายไมเคิล อารีส สามีชาวอังกฤษถึงแก่กรรมในปี 2541
เจ้าหน้าที่อังกฤษกล่าวว่า นายคาเมรอนกำลังจะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้มีการค้าและการลงทุนกับพม่า “"อย่างรับผิดชอบ” ขณะที่การคว่ำบาตรกำลังจะถูกยกเลิก แผนการดังกล่าวก็เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนพม่าทั้งมวล มิใช่เพียง “ไม่กี่กลุ่ม” ที่เลือกแล้วจะได้รับประโยชน์
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ในการยกเลิก หรือผ่านคลายมาตรการค่ำบาตรต่อพม่า ในทันทีที่ประเทศน่ารังเกียจแห่งนี้ ได้ทำการปฏิรูปประชาธิปไตย และหันเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับทั้งโลก
เจ้าหน้าที่อังกฤษยังเปิดเผยอีกว่า นายคาเมรอนจะแสดงรายละเอียดข้อเสนอต่อที่ประชุม G8 เกี่ยวกับคณะกรรมการเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบในพม่า ซึ่งอาจจะประกอบด้วยผู้แทนธนาคารโลก และองค์การพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บรรษัทระหว่างประเทศ และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
คณะกรรมการดังกล่าวจะออกหลักการ เช่น กระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ ต้องสมัครหรือแจ้ง เมื่อจะเข้าค้าขาย หรือเจ้าลงทุนในพม่า เจ้าหน้าที่กล่าว.