xs
xsm
sm
md
lg

นักประชาธิปไตยคนแรก

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ประวัติศาสตร์ไทยมักระบุว่าบุคคลกลุ่มที่นำความคิดประชาธิปไตยมายังประเทศไทยได้แก่คณะราษฎร โดยเฉพาะแกนนำซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนนอกที่ศึกษาอยู่ในอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ก็มีหลักฐานแสดงว่าผู้ซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนราษฎรก่อนพวกคณะราษฎรได้แก่เทียนวรรณ ซึ่งเป็นสามัญชนไม่ใช่นักเรียนนอก แต่เทียนวรรณเคยเดินทางไปต่างประเทศโดยเป็นลูกเรือ

เข้าใจว่าเทียนวรรณสนิทสนมกับเจ้านายหนุ่มๆ ที่เป็นนักเรียนอังกฤษ บุคคลสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นกรมพระสวัสดิ์ฯ ซึ่งทรงจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

แต่เมื่อสาวประวัติทางความคิดย้อนกลับไปแล้ว จะพบว่ามีเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งเราอาจถือว่าเป็น “นักประชาธิปไตยคนแรกของสยาม” และเข้าใจว่าทรงเป็นต้นคิดในการถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การถวายความเห็นเช่นนี้จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการวิจารณ์ระบอบการปกครองแบบเก่าโดยตรง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ตามพระราชประวัติแล้วทรงไปศึกษาที่สิงคโปร์ก่อนเสด็จไปอังกฤษ ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ทรงศึกษาได้ดีถึงขนาดได้รับรางวัลการเรียนดีจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายแกลดสโตน

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำ 11 ประเทศในยุโรปและอังกฤษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง พระภารกิจที่สำคัญยิ่งในขณะนั้นก็คือการผลักดันให้สยามเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. 2475 และสหภาพโทรเลขในปี พ.ศ. 2428

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดการถวายความเห็นเกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนก็คือ การที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2528 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ทรงรายงานเหตุการณ์ และทรงตัดข่าวหนังสือพิมพ์ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นระยะๆ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรึกษาเป็นการส่วนพระองค์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการบ้านเมือง

แต่สิ่งที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงกระทำพลาดไปก็คือ แทนที่จะถวายความเห็นไปเพียงลำพัง ก็ไปทำเป็นหนังสือถวายความเห็น โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ที่กำลังศึกษาอยู่ในยุโรปขณะนั้น ลงพระนามด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีข้าราชการไทยร่วมกันลงชื่ออีก เข้าทำนองการถวายฎีกาเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัย เพราะมีการตีความว่าเหตุที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เพราะทรงหวงพระราชอำนาจ อันเป็นที่มาของพระบรมราชาธิบายในเวลาต่อมา

พระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์นั้นคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต

ในพระราชประวัติพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงบันทึกเชิงน้อยใจแต่ไม่ได้ระบุชื่อบุคคล ทำนองว่าในที่สุดพระองค์ก็ทรงรับกรรมแต่ผู้เดียว ด้วยเหตุนี้จึงทรงไปผนวชที่ศรีลังกา และไม่ได้เสด็จกลับประเทศไทยจนกระทั่งงานถวายพระเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงลาสิกขาแล้วก็ทรงสอนภาษาอังกฤษ และเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ และได้ทรงเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

สาระสำคัญของการถวายความเห็นเกี่ยวกับการจัดการบ้านเมืองก็คือ การเสนอให้มีการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ และมีสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาเอกราชของชาติ ผู้ถวายความเห็นมีการเสนอให้มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม แต่มิได้ทรงเห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญ ทรงเห็นว่าการจัดการบริหารมีความสำคัญกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงรู้สึกว่าการถวายความเห็นในรูปหมู่คณะนั้น เป็นการมิบังควร และในที่สุดก็ต้องทรงอยู่โดดเดี่ยว โดยไม่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนแต่ก่อน

ความคิดประชาธิปไตยครั้งแรกถูกจุดประกายขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2427 คือร้อยกว่าปีมาแล้ว และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็คือนักประชาธิปไตยคนแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น