xs
xsm
sm
md
lg

IMF ระบุเศรษฐกิจพม่าบูมหากเดินหน้าปฏิรูปต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปึกธนบัตรเงินจ๊าตตั้งเรียงกันอยู่ในธนาคารแห่งหนึ่ง ในนครย่างกุ้ง ในภาพวันที่ 20 มี.ค.2555 รัฐบาลพม่าปรับปรุงระบบการเงินของประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ลอยตัวค่าเงินสกุลจ๊าต รวมอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายให้เป็นหน่วยเดียว IMF ระบุว่า หากพม่ายังคงดำเนินตามแนวทางการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง พม่าจะกลายเป็นพรมแดนทางเศรษฐกิจใหม่ของเอเชีย. --REUTERS/Soe Zeya Tun/Files.

เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุวานนี้ (7 พ.ค.) ว่า พม่าอาจจะเป็นประเทศเศรษฐกิจรุ่งเรืองรายถัดไปของเอเชีย หากพม่ายังคงดำเนินไปในแนวทางการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ

ในการประเมินทบทวนเศรษฐกิจของพม่าเป็นครั้งแรก IMF กล่าวชื่นชมการปล่อยลอยตัวค่าเงินของประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสนับสนุนรัฐบาลให้ยึดแนวทางการปฏิรูปนี้

“รัฐบาลชุดใหม่ของพม่า มีโอกาสครั้งสำคัญในการที่จะก้าวกระโดดในด้านการพัฒนาและการยกระดับความเป็นอยู่” IMF ระบุในรายงาน

พม่าอาจกลายเป็นพรมแดนทางเศรษฐกิจใหม่ของเอเชีย หากดำเนินการปฏิรูปอย่างเหมาะสม พม่าสามารถเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมาย แรงงาน และความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ให้เป็นประโยชน์ต่อพม่าเอง ขณะเดียวกัน IMF เตือนรัฐบาลพม่าว่า แม้ในช่วงเริ่มต้นจะเต็มไปด้วยทุนต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาทันทีที่พม่าเปิดประตู แต่พม่าควรก้าวเดินอย่างระมัดระวังโดยมุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

“นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เชื่อว่า การปฏิรูปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ขนาดใหญ่อาจเกิดข้อผิดพลาดที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ แม้ว่าการปฏิรูปถูกวางแผนมาแล้วจะใช้เวลาในการดำเนินการ การจัดลำดับความสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยนำผลประโยชน์ไปสู่ประชากรส่วนใหญ่” รายงานระบุ

นางเมอร์รัล คาราซูลู หัวหน้า IMF ประจำพม่า กล่าวว่า IMF เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเกิดขึ้นในพม่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมอย่างมาก การดำเนินงานของรัฐบาลพม่าที่จัดการลอยตัวค่าเงินจ๊าต ในต้นเดือน เม.ย. เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากค่าเงินถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลากหลายมายาวนานหลายปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขัดขวางการค้า และการลงทุนในประเทศมาโดยตลอด

นางคาราซูลู ระบุว่า ในตอนนี้รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะรวมอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายให้เป็นหน่วยเดียว ให้ทันกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2556 เนื่องจากพม่ายังมีอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดอย่างไม่เป็นทางการอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น นางคาราซูลูระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบที่ขาดดุลรวมกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดเพี้ยนซึ่งเพิ่มภาวะเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ภาวะเงินเฟ้อของพม่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเงินเฟ้อที่เคยเฉลี่ยอยู่เกือบร้อยละ 33 ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2551 ลดลงเหลือร้อยละ 8.2 ในปีงบประมาณ 2553-54 และลดลงเหลือร้อยละ 4.2 ในปีงบประมาณที่ผ่านมา

นางคาราซูลูกล่าวว่า รัฐบาลอาจตัดลดแนวทางปฏิบัติลงโดยการอนุญาตให้ธนาคารและบริษัทประกันลงทุนเงินสำรองของตนเองในพันธบัตรของรัฐให้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันทั้งธนาคารและบริษัทประกันถูกจำกัดการซื้ออย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม IMF ระบุว่า การเงินของรัฐบาลมีเสถียรภาพและแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในเศรษฐกิจมหภาค โดยเศรษฐกิจพม่าเติบโตขึ้นราวร้อยละ 5.5 ในปี 2554 และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.0 ในปีนี้ โดยที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.8 และเงินทุนสำรองราว 7,100 ล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ย. 2554 ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจของพม่าในปีนี้จะยังคงราบรื่นต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น