ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สื่อในเวียดนามตีพิมพ์เผยแพร่กันครึกโครมหลังจากสำนักข่าวด้านกลาโหมหลายแห่งข่าวจีน เปิดประเด็นการจีนกำลังเสริมสร้างกองกำลังเรือดำน้ำครั้งใหญ่โดยจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นประมาณ 90 ลำ เพื่อคุ้มกันกองเรือบรรทุกเครื่องบิน หลังจากได้พบว่าฝ่ายจีนเองยังคงเป็นรองโลกตะวันตกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ในการป้องกันและโจมตีใต้น้ำ
สำหรับเวียดนามเองปัจจุบันมีเรือดำน้ำรุ่นเก่าตั้งแต่สมัยสงครามเย็นอยู่ 2 ลำ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีไว้สำหรับการฝึกเท่านั้น แต่ได้สั่งซื้อเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-Class) จากรัสเซียไป 6 ลำๆ แรกมีกำหนดส่งมอบปลายปี 2555 นี้
เมื่อจีน “วิจัยและทดลอง” เรือบรรทุกเครื่องบิน “วาร์แย็ก” ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันแล้วเสร็จและนำเข้าประจำการ จีนมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ประกอบด้วยเรือรบติดอาวุธทันสมัยจำนวนมากทำหน้าที่คุ้มกัน แหล่งข่าวทางทหารในฮ่องกงเปิดปูมเรื่องนี้
การออกข่าวการเสริมสร้างกำลังรบทางเรือของจีนครั้งใหญ่มีขึ้นหลังจากจีนประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมมหาศาลเมื่อปลายเดือนที่แล้ว และหลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2556 นี้เป็นต้นไป 60% ของเรือรบสหรัฐฯ ที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนี้ จะแล่นเข้าประจำการในย่านเอเชียแปซิฟิก ตามนโยบายที่รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าไปมีบทบาทในย่านนี้อีกครั้งหนึ่ง
หมายความว่า จากที่เคยมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินแล่นเข้าออกหรือประจำการในย่านนี้เพียง 2-3 ลำเช่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปีหน้าที่อาจจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ถึง 7 ลำ นำเรือรบชนิดต่างๆ นับร้อยกระจายกำลังตั้งแต่ชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน อลาสก้า ครอบคลุมมลรัฐฮาวายกับแปซิฟิกตะวันออกทั้งหมด จนถึงย่านทะเลญี่ปุ่น-ทะเลเหลือง แปซิฟิกตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ นั่นคือ ทะเลจีนใต้ ทะเลซูลู หมู่เกาะอินโดนีเซียจนถึงออสเตรเลีย และช่องแคบมะละกา
นั่นคือ การปิดล้อมจีนครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
สื่อของทางการเวียดนาม ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้นำเสนอความเคลื่อนไหวนี้พร้อมตั้งข้อสังเกต วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่กำลังพัฒนาไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจทางการทหารในย่านนี้รวมทั้งในอนุภูมิภาคที่ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับน่านน้ำในระดับค่อนข้างรุนแรง
กองเรือดำน้ำที่แข็งแกร่งมีความจำเป็นสำหรับจีนในการพิทักษ์ปกป้องเขตแดนทางทะเลทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉิยงเหนือ คือ ทะเลเหลืองกับทางทิศใต้ซึ่งจี่นกล่าวอ้างอาณาบริเวณที่เป็นทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นน่านน้ำของตน
แหล่งข่าวการทหารในฮ๋องกงรายเดียวกันเปิดเผยด้วยว่า ระหว่างที่จีนฝึกซ้อมและทดสอบเรือดำน้ำลำแรกในบริเวณอ่าวโป๋ไห่ กับในย่านทะเลเหลือง มีเรือน้ำจำนวนหนึ่งทำหน้าที่คุ้มกันและทดลองปฏิบัติหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน
จีนยังไม่เคยมีประสบการณ์นี้มาก่อน และตระหนักดีว่ากองกำลังเรือดำน้ำของตนยังไม่ทันสมัยเพียงพอสำหรับคุ้มกันเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่มีอยู่ในปัจจุบันถึงแม้จะมากด้วยจำนวน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นรุ่นเก่าที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลผสมผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า เทียบกับกองเรือรบของสหรัฐฯ ที่จะเคลื่อนเข้าสู่แถบทะเลจีนใต้ในปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวคเลียร์
มังกรทะยาน by Reuters
2
3
4
5
6
“หากปราศกองทัพใต้น้ำที่แข็งแกร่ง กองเรือรบทั้งหมด รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินก็จะไร้ความหมาย”
“จีนได้พัฒนาเรือดำน้ำอย่างเงียบๆ มาหลายปีแล้ว รวมทั้งจำนวนหนึ่งที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย” แหล่งข่าวเดียวกันระบุ
ตามตัวเลขที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านของเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่ง ปัจจุบันจีนมีเรือดำน้ำขนาดต่างๆ รวม 58 ลำ รวมทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังดีเซล-มอเตอร์ไฟฟ้าและพลังงานนิวเคลียร์
ภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าวตลอด 7 ปีข้างหน้าจีนจะสร้างเรือดำน้ำชั้น “หยวน” (Yuan-Class) จำนวน 30 ลำ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ และ ใช้ระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ทั้งหมด
จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีของระบบ AIP มานาน ระบบนี้จะทำให้เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการอยู่ใต้น้ำได้นานเท่านานและเงียบเชียบ โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมารับออกซิเจนธรรมชาติเหนือน้ำ และต่อไปนี้เรือดำน้ำทีจีนมีอยู่จะใช้ระบบ AIP ทั้งหมดเช่นกัน รวมทั้งเรือชั้นซ้องหรือซ้ง (Song-Class) กับ ชั้นหมิง (Ming-Class) ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าด้วย
กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ปลดประจำการเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล-มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว และใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มกันกองเรือบรรทุกเครื่องบินแทน นอกจากนั้นเรือดำน้ำของสหรัฐฯ ทุกลำยังติดขีปนาวุธโจมตียุทธศาสตร์ (Strategic Ballistic Missile) สามารถโจมตีทุกเป้าหมายในทั่วโลกรวมทั้งในจีนด้วย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าในระหว่างแล่นทดสอบเรือวาร์แย็กรอบที่ 2 เรือดำน้ำชั้นหยวนลำหนึ่งของจีนได้ออกติดตามไปอย่างเงียบๆ และ นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของกองทัพประชาชนที่มีกำลังพลมากมายที่สุดในโลก แต่ปี 2556 นี้ น่านน้ำแปซิฟิก-ทะเลจีนใต้จะไม่เงียบอีกต่อไป เรือรบจีนกำลังจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ.