เอเอฟพี - รัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวหาว่า กรุงเปียงยางกำลังใช้การส่งดาวเทียมในเดือนหน้ามาเป็นข้ออ้างอำพรางแผนพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ วันนี้ (19) ขณะที่รัฐโสมแดงยังเมินเสียงเรียกร้องจากนานาชาติที่ขอให้ยุติโครงการดังกล่าวเสีย
“เรามองว่าแผนส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือเป็นการยั่วยุครั้งใหญ่ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องส่งหัวรบนิวเคลียร์พิสัยไกล โดยใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธ” ปาร์ก จอง-ฮา โฆษกประจำตัวประธานาธิบดี ลี เมียงบัค แห่งเกาหลีใต้ แถลง
สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆก็เล็งเห็นเช่นกันว่า การส่งดาวเทียมครั้งนี้เป็นไปเพื่ออำพรางแผนทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งจะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามขององค์การสหประชาชาติ และละเมิดข้อตกลงลดอาวุธที่เกาหลีเหนือทำร่วมกับวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อแลกความช่วยเหลือด้านอาหาร
เชื่อกันว่า เกาหลีเหนือมีแร่พลูโตเนียมมากพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ 6-8 ลูก แต่ยังไม่แน่ชัดว่า พวกเขาสามารถผลิตหัวรบนิวเคลียร์ได้สำเร็จหรือยัง
การส่งดาวเทียมถูกกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน ซึ่งจะตรงกับงานเฉลิมฉลองวันเกิด 100 ปีอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง และหลังจากที่เกาหลีใต้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 11 เมษายนแล้ว ซึ่งคาดว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของ ลี เมียงบัค ที่เป็นปฏิปักษ์กับเปียงยาง จะพยายามรักษาอำนาจในสภาไว้ให้ได้
แผนส่งดาวเทียม กวางเมียงซอง-3 อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ซึ่งจะจัดขึ้นปลายเดือนนี้ที่กรุงโซล โดยมีประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม
เกาหลีเหนือเคยทดสอบจรวดพิสัยไกลเมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี 2009 โดยใช้การส่งดาวเทียมมาเป็นข้ออ้างเช่นกัน ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติออกมาประณาม และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงขึ้น
รัฐบาลเปียงยางตอบโต้ด้วยการเดินออกจากที่ประชุมลดอาวุธ 6 ฝ่าย และทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน
นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง
“จากที่ผ่านๆ มา เกาหลีเหนือมักทดลองส่งจรวด ก่อนที่จะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์” ยุน ดุก-มิน จากสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ จุงอัง เดลี
ด้านกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ก็ออกมาทำนายเช่นกันว่า เกาหลีเหนืออาจทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หลังจากที่ส่งดาวเทียมสำเร็จแล้ว
“เราจะพยายามป้องกันการยั่วยุทางทหารหรือการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่า เกาหลีเหนืออาจจะทำเหมือนที่เคยทำมาแล้ว เมื่อปี 2009” โฆษกกระทรวงแถลง พร้อมระบุว่า โซลและวอชิงตันจะจับตาความเคลื่อนไหวที่ฐานยิงจรวด ตงชาง-รี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด
เกาหลีเหนือได้แจ้งเส้นทางของจรวดส่งดาวเทียมไปยังองค์กรการบินและการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยระบุว่าชิ้นส่วนจรวดขั้นที่ 1 จะตกลงในน่านน้ำสากลระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ ห่างจากชายฝั่งเกาหลีใต้ราว 140 กิโลเมตร ส่วนชิ้นส่วนที่ 2 จะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปทางตะวันออกราว 190 กิโลเมตร