xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: นานาชาติหวั่นโสมแดงอ้างส่ง “ดาวเทียมสำรวจ” อำพรางทดสอบขีปนาวุธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVสุดสัปดาห์ - สหรัฐฯและประเทศแถบเอเชียตะวันออกได้มีอันนั่งไม่ติดกันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศจะส่งดาวเทียมสำรวจโลก (Earth observation satellite) ขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทำให้นานาประเทศหวาดระแวงว่านี่จะเป็นเพียงแผนอำพรางการทดสอบยิงขีปนาวุธ เนื่องจากเปียงยางก็เคยใช้ข้ออ้างลักษณะนี้มาแล้ว เมื่อ 3 ปีก่อน

หลังจากผู้นำ คิม จอง อิล ถึงแก่อสัญกรรมลงอย่างกะทันหันเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเปียงยางจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งและอำนาจบารมีให้แก่ผู้นำใหม่อายุน้อยอย่าง คิม จอง อึน ซึ่งถูกปรามาสว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดที่ไร้ประสบการณ์

ล่าสุดเกาหลีเหนือประกาศแผนส่งจรวด อึนฮา-3 เพื่อนำดาวเทียมสำรวจ กวางเมียงซอง-3 ขึ้นสู่อวกาศระหว่างวันที่ 12-16 เมษายนนี้ ซึ่งนอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปีวันเกิดอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งรัฐโสมแดงแล้ว ก็ยังไปตรงกับฤดูกาลเลือกตั้งทั่วไปในเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11 เมษายน และคาดกันว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ก็คงจะต้องยื้ออำนาจในสภาต่อไปให้ได้ ท่ามกลางความขุ่นเคืองใจของเปียงยางที่ไม่ปลื้มกับนโยบายแข็งกร้าวของรัฐบาลชุดนี้

โรดอง ซินมุน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักของเกาหลีเหนือรายงานว่า การส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้จะมีความปลอดภัยมากกว่าครั้งที่ผ่านๆมา ซึ่งจรวดเคย “หลง” เข้าไปในน่านฟ้าของญี่ปุ่นจนกลายเป็นประเด็นพิพาทมาแล้ว

จรวด อึนฮา-3 ที่ว่านี้เป็นที่รู้จักกันภายนอกในชื่อ “แตโปดอง-3” ซึ่งเป็นจรวดพิสัยไกลที่ในทางทฤษฎีแล้วอาจข้ามมหาสมุทรไปถึงแผ่นดินสหรัฐฯได้

เปียงยางระบุว่า การส่งดาวเทียมครั้งนี้จะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจของของตน โดยได้กำหนดเส้นทางจรวดที่จะไม่กระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน และคณะกรรมการเทคโนโลยีด้านอวกาศของเกาหลีเหนือก็จะเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างประเทศมาเป็นสักขีพยานในการส่งดาวเทียมด้วย

เส้นทางของจรวดที่เกาหลีเหนือแจ้งไปยังองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ, องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ และสหภาพการสื่อสารทางไกลระหว่างประเทศ ระบุว่า ชิ้นส่วนจรวดขั้นที่ 1 จะตกลงในน่านน้ำสากลระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ ห่างจากชายฝั่งเกาหลีใต้ประมาณ 140 กิโลเมตร ส่วนชิ้นที่ 2 จะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปทางตะวันออกราว 190 กิโลเมตร

โซลแฉแผน “ลับ-ลวง-พราง” ของโสมแดง

ขณะที่เกาหลีเหนือหยิบยกความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้าง เพื่อนบ้านหลายประเทศกลับไม่เชื่อว่าเปียงยางจะใฝ่สันติจริง โดย ปาร์ก จอง-ฮา โฆษกประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ออกมากล่าวหาอย่างชัดเจนว่าเปียงยางกำลังใช้การส่งดาวเทียมมาเป็นข้ออ้างอำพรางแผนพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งถือเป็นความพยายามยั่วยุอย่างรุนแรง

สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เตือนว่า การที่เปียงยางผุดแผนส่งดาวเทียมหลังจากที่รับปากว่าจะระงับการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านอาหารจากสหรัฐฯ จะเป็นการฝ่าฝืนมติที่ 1874 ขององค์การสหประชาชาติในปี 2009 ซึ่งห้ามเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธทุกรูปแบบ

เลขาธิการสหประชาชาชาติ บัน คี มูน ออกมาเรียกร้องให้เกาหลีเหนือระงับแผนยั่วยุดังกล่าวเสีย ขณะที่รัสเซียหรือแม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นมหามิตรที่หนุนหลังเปียงยางมาโดยตลอด ก็ยังเผยว่ารู้สึกกังวลใจกับการส่งดาวเทียมครั้งนี้

เชื่อกันว่าเกาหลีเหนือมีแร่พลูโตเนียมมากพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ 6-8 ลูก แต่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า พวกเขาสามารถผลิตหัวรบนิวเคลียร์สำเร็จแล้วหรือยัง

ด้านรัฐบาลเกาหลีเหนือก็ออกมาประกาศเสียงแข็งว่า ไม่ระงับแผนส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรขึ้นสู่อวกาศอย่างแน่นอน พร้อมอ้างว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้านอวกาศที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนและกองทัพช่วยกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติ

สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือยังวิจารณ์ท่าที “สองมาตรฐาน” ของสหรัฐฯ โดยชี้ว่าเป็นความพยายามอัน “ต่ำช้า” ที่จะก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยของเกาหลีเหนือ ทั้งที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นเองก็ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสอดแนมกิจการภายในของประเทศอื่น

แผนส่งดาวเทียมอาจกระทบกับข้อตกลงมอบความช่วยเหลือด้านอาหารที่เกาหลีเหนือทำร่วมกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเปียงยางสัญญาไว้ว่า จะระงับโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับอาหารจำนวน 240,000 ตัน

นักการทูตสหรัฐฯยังย้ำกับเกาหลีเหนือก่อนจะมีการลงนามในข้อตกลงว่า ความพยายามส่งขีปนาวุธรูปแบบใดๆก็ตาม จะทำให้สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง

กรุงเปียงยางซึ่งตระหนักถึงผลข้อนี้ดี พยายามแก้ตัวด้วยการประกาศเชิญผู้แทนทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ)ให้เข้ามาตรวจสอบการส่งดาวเทียมในเดือนหน้า พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯและเกาหลีเหนือจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้

เกาหลีเหนือเคยทดสอบจรวดพิสัยไกลเมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี 2009 โดยใช้การส่งดาวเทียมมาเป็นข้ออ้างเช่นเดียวกับครั้งนี้ ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติออกแถลงการณ์ประณามและเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงหนักขึ้นไปอีก ซึ่งเปียงยางก็ตอบโต้ด้วยการเดินออกจากที่ประชุมลดอาวุธ 6 ฝ่าย และทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง

ยุน ดุก-มิน จากสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ จุงอัง เดลี ว่า ที่ผ่านมาหากเกาหลีเหนือทดสอบจรวดก็มักจะมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ติดตามมาเสมอ ขณะที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ก็คาดหมายเช่นกันว่า เปียงยางอาจทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หลังจากที่ส่งดาวเทียมสำเร็จแล้ว ทั้งยังสั่งปรับเส้นทางเครื่องบินโดยสารและเรือสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ในขณะที่เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสู่อวกาศ

ด้านกรุงโตเกียวก็เผยไว้แต่เนิ่นๆว่า อาจตัดสินใจใช้ขีปนาวุธสกัดกั้น PAC3 ป้องกันอธิปไตยของตน เหมือนเช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อเกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยไกลข้ามเข้าไปในน่านฟ้าญี่ปุ่น เมื่อปี 2009

กรุงโซลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีผู้นำประเทศทั่วโลก รวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯเดินทางมาร่วมหารือด้วย จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า ด้วยเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่วัน สหรัฐฯและ 4 มหาอำนาจอย่าง จีน, รัสเซีย ญี่ปุ่น และเจ้าภาพเกาหลีใต้ จะงัดมาตรการใดมาสกัดกั้นแผนยั่วยุครั้งใหญ่ของเปียงยางไว้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น