เอเอฟพี - รัฐบาลเกาหลีเหนือออกมายืนยันวันนี้(18)ว่า จะไม่ระงับแผนส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรขึ้นสู่อวกาศอย่างแน่นอน แม้จะมีเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าความพยายามครั้งนี้เป็นการอำพรางแผนทดสอบขีปนาวุธ และแม้แต่จีนซึ่งเป็นมหามิตรของเปียงยางก็ยังออกมาเผยความกังวล
กรุงเปียงยางแถลงเมื่อวันศุกร์(16)ที่ผ่านมาว่า จะส่งดาวเทียม กวางเมียงซอง-3ขึ้นสู่อวกาศ ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายนนี้ เพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 100 ปีของอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งรัฐโสมแดง
เกาหลีเหนือยืนยันว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้านอวกาศ พร้อมวิจารณ์ท่าที “สองมาตรฐาน” ของสหรัฐฯกับชาติพันธมิตร ซึ่งเชื่อว่าเปียงยางกำลังคิดทดสอบขีปนาวุธ
สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ระบุว่า แผนส่งดาวเทียมซึ่งถูกประกาศขึ้นหลังจากที่เปียงยางรับปากจะระงับการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านอาหารจากสหรัฐฯได้เพียง 16 วัน ถือเป็นการละเมิดคำสั่งห้ามขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประกาศหลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธเมื่อปี 2009
อย่างไรก็ดี สำนักข่าว เคซีเอ็นเอ ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลเปียงยาง ออกมาตอบโต้ว่า คำวิจารณ์ของเพื่อนบ้านและชาติตะวันตก “เป็นความพยายามอันต่ำช้าที่จะก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยของเรา” พร้อมชี้ว่า สหรัฐฯและญี่ปุ่นก็ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสอดแนมกิจการภายในของประเทศอื่น
“ว่ากันตรงๆก็คือ ไม่มีใครจะยอมรับการใช้สองมาตรฐานในเรื่องของการผลิตและส่งดาวเทียมได้” เคซีเอ็นเอ ระบุ
สื่อรัฐบาลเปียงยางยังประณามวอชิงตัน, โตเกียว และโซล ซึ่งใช้แผนส่งดาวเทียมมาเป็นข้ออ้างกดดันเกาหลีเหนือทั้งในด้านการเมือง, การทหาร และเศรษฐกิจ
“ไม่มีใครมีสิทธิ์สั่งให้โครงการดาวเทียมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ต้องเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้” เคซีเอ็นเอ ระบุ ทั้งยังเย้ยหยันเพื่อนบ้านว่า “คิดผิดถนัด” หากหวังว่าเกาหลีเหนือจะยอมเลิกล้มความตั้งใจ
แผนส่งดาวเทียม กวางเมียงซอง-3 อาจกระทบกับข้อตกลงมอบความช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งสหรัฐฯหวังว่า จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับเกาหลีเหนือ ภายใต้ผู้นำ คิม จอง อึน
เกาหลีเหนือกับสหรัฐฯบรรลุข้อตกลงมอบความช่วยเหลือด้านอาหาร เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเปียงยางสัญญาว่าจะระงับโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับอาหารจำนวน 240,000 ตัน
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแถลงว่า แผนส่งดาวเทียมครั้งนี้ถือเป็นการยั่วยุอย่างรุนแรง และเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมแสดงความไม่มั่นใจว่าจะจัดส่งอาหารให้ตามที่ตกลงไว้ได้หรือไม่ หากเปียงยางยังมีท่าทีคุกคามเช่นนี้
บัน คี มูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือล้มเลิกแผนส่งดาวเทียม ขณะที่รัสเซียหรือแม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเปียงยาง ก็ยังระบุว่า แผนการของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ “น่ากังวล”
เกาหลีเหนือเคยทดสอบจรวดพิสัยไกลเมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี 2009 โดยใช้การส่งดาวเทียมมาเป็นข้ออ้างเช่นกัน ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติออกมาประณาม และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงขึ้น
กรุงโตเกียวระบุว่า อาจจะพิจารณาใช้ขีปนาวุธสกัดกั้น PAC3 เหมือนเช่นที่เคยทำมาแล้ว เมื่อเกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยไกลในปี 2009