xs
xsm
sm
md
lg

จีนรุกคืบสัมปทานที่ดินป่าสงวนในกัมพูชาสร้างรีสอร์ต-กาสิโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ชายคนหนึ่งยืนใกล้อยู่กับบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในอุทยานแห่งชาติในจ.เกาะกง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พื้นที่บริเวณนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นผืนป่าแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือ ช้าง หมี และชะนี. -- REUTERS/Samrang Pring.  </font></b>

รอยเตอร์ - ผืนป่าในอุทยานแห่งชาติบัวตูมสาคร (Botum Sakor) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเสือ ช้าง หมี และ ชะนี จำนวนมาก ในวันนี้ผืนป่าดังกล่าวกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับสายพันธุ์ที่ยังห่างไกลจากการสูญพันธุ์ นั่นคือ นักพนันชาวจีน

“แถวนี้เคยเป็นป่ามาก่อน แต่รัฐบาลขายที่ดินบริเวณนี้ให้กับคนรวย” ชู้ต วุฑธี (Chhut Wutty) ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีสำนักงานในกรุงพนมเปญ กล่าวถึงพื้นที่ที่เกือบไม่เหลือต้นไม้ให้เห็น

คนรวยที่ นายวุฑธี กล่าวถึงนั้นคือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เทียนจินยูเนี่ยนเดเวลล็อปเมนต์กรุ๊ป จากภาคเหนือของจีน ที่กำลังเปลี่ยนที่ดินภายในอุทยานแห่งชาติขนาด 340 ตาราง กม. ให้กลายเป็นรีสอร์ตสำหรับเล่นการพนัน และถนน 4 เลน ความยาว 64 กม.ที่สร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์ถูกตัดผ่านผืนป่าเข้ามายังพื้นที่ก่อสร้าง

อุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าในกัมพูชา อาจหายไปทั้งหมด หากนักลงทุนชาวจีนขายที่ดินให้กับบริษัทเอกชน

สมาคมสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งกัมพูชา (ADHOC) ระบุว่า ในปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชามอบสัมปทานที่ดินให้กับหลายบริษัทเพื่อพัฒนาที่ดินจำนวน 7,631 ตาราง กม. ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและพื้นที่สงวนพันธุ์สัตว์ป่า และในระหว่างปี 2553-2554 รัฐมอบพื้นที่ให้สัมปทานเป็นจำนวนสูงกว่าที่กล่าวมาถึง 6 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงการค้าในภูมิภาคอินโดจีนที่เฟื่องฟู เมื่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนแผ่ขยายลึกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้กลุ่มอนุรักษ์ต่างชาติในกัมพูชา ยังไม่แสดงท่าทีต่อการขายที่ดินเหล่านี้ด้วยเกรงจะสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์กับรัฐบาลนายกฯฮุนเซน แต่ชาวกัมพูชาที่ถูกขับออกจากพื้นที่ที่สัมปทานเริ่มแสดงความเห็นมากขึ้น

ครอบครัวชาวประมงในบัวตูมสาคร ระบุว่า บริษัท ยูเนียนกรุ๊ป ใช้วิธีผลักดันให้พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ลึกขึ้น ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า จนกระทั่งบริษัทยูเนียนกรุ๊ปคุกคามชาวบ้านและสั่งให้พวกเขาย้ายทรัพย์สินออกไป

ในกัมพูชา จีนถือเป็นทั้งนักลงทุนจากต่างชาติและแหล่งเงินช่วยเหลือจากต่างชาติรายใหญ่ที่สุด ซึ่งความช่วยเหลือจากจีนมักอยู่ในรูปแบบที่ไร้ข้อผูกมัดในโครงก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้ฮุนเซนพึ่งพาประเทศผู้บริจาคจากชาติตะวันตกน้อยลง ส่งผลให้บทบาทนอิทธิพลของกลุ่มอนุรักษ์ต่างชาติในกัมพูชาลดลงไปด้วยเช่นกัน

“ช่วงเวลาที่เคยต้องพึ่งพาผู้บริจาคจบลงแล้ว” นักอนุรักษ์ชาวต่างชาติรายหนึ่งที่ทำงานในกัมพูชา กล่าว พร้อมระบุว่า เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลมาสู่ประเทศนี้ผ่านการลงทุนโดยตรงโดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทชาวจีน ดังนั้นรูปแบบการทำงานด้วยแรงจูงใจแบบ NGO ดังเช่นเมื่อ 10 ปีก่อน จึงไม่มีผลอะไรในเวลานี้

ศูนย์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา ระบุว่า บริษัทจากกัมพูชา เวียดนาม และประเทศอื่นๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับสัมปทานส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาสวนยางและธุรกิจทางการเกษตรอื่นๆ แต่โครงการที่มีมูลค่าสูงเช่น การทำเหมืองทองคำและเหมืองแร่อื่นๆ นั้น ดำเนินการโดยบริษัทจากจีน

แม้ว่ากฎหมายที่ดินของกัมพูชาฉบับปี 2544 ไม่อนุญาตให้มีการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 เฮกตาร์ แต่บริษัท ยูเนียนกรุ๊ป จากจีนได้รับสัมปทานนาน 99 ปี จากพระราชกฤษฎีกาปี 2551 บนพื้นที่ 36,000 เฮกตาร์ ในเขตบัวตูมสาคร และในปีเดียวกันนั้น ยังมีข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ยูเนียนกรุ๊ป ที่ บริษัทได้รับมอบพื้นที่เพิ่มเติมอีก 9,100 เฮกตาร์ เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ บริษัท ยูเนี่ยนกรุ๊ป มีโครงการก่อสร้างหลายโครงการในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน เช่น เครือข่ายถนน สนามบินนานาชาติ ท่าเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ และกาสิโน

นายเจียงสิวลิง (Chheang Sivling) ผู้จัดการชาวกัมพูชาที่ดำเนินการควบคุมการก่อสร้างถนนของบริษัทยูเนี่ยนกรุ๊ประบุว่า ถนน 4 เลน สร้างขึ้นด้วยงบลงทุนที่ 1.1 ล้านดอลลาร์ต่อ 1 ไมล์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบถนนที่บริษัท ยูเนียนกรุ๊ป จะดำเนินการทั่วพื้นที่บัวตูมสาคร

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากกลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกัมพูชา ระบุว่า ถนนที่สร้างขึ้นใหม่ทำให้ผู้ประกอบการตัดไม้เข้าไปในพื้นที่ได้ง่ายขึ้นและเร่งการทำลายป่ารวดเร็วขึ้น

ทางด้านประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมฝั่งทะเลข้างเคียงเตรียมย้ายออกจากพื้นที่หลังลงนามมอบสิทธิให้กับบริษัทยูเนี่ยนกรุ๊ป

“เราเสียใจ แต่เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้” นายเจยเพียบ (Chey Pheap) เจ้าของร้านขายของชำ กล่าว พร้อมระบุว่า ตัวเขาและชาวบ้านที่เหลือจะย้ายไปอยู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปอีก 10 กม.และเมื่อถูกถามถึงสภาพของที่อยู่แห่งใหม่ หนึ่งในเพื่อนบ้านของ นายเพียบกล่าวอีกว่า ไม่มีงาน ไม่มีน้ำ ไม่มีโรงเรียน หรือวัด มีแต่มาลาเรีย

ชาวบ้านที่ต้องอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไป ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถทำอาชีพเดิม คือ การทำประมงได้ เพราะรอบบ้านมีแต่ความแห้งแล้ง ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถทนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตัดสินใจย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

เว็บไซต์ของบริษัท ยูเนียนกรุ๊ป กล่าวยกย่องกัมพูชาต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าบังคับไล่ที่นั้น ถูกระบุว่า เป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและประชาชนในประเทศ และระบุว่าบริษัทยูเนี่ยนกรุ๊ปเคารพกฎหมายกัมพูชาและทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน และเครือข่ายถนนที่บริษัทสร้างเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่


[บัวตูมสาครเป็นเขตชีวนานาพันธุ์ที่สมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ทั้งทางบกและชายทะเลในเขตรอยต่อ จ.พระสีหนุกับ จ.เกาะกง ของกัมพูชา --บก.]
<br><FONT color=#000033>เด็กนักเรียนขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติในจ.เกาะกง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. บริษัทจากจีนได้สัมปทานพื้นที่ในอุทยานที่จะมีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นทั้งรีสอร์ท และกาสิโน.-- REUTERS/Samrang Pring.  </font></b>
<br><FONT color=#000033>งานก่อสร้างปรับพื้นที่กำลังดำเนินขึ้นภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในจ.เกาะกง บริษัทจากจีนกำลังเปลี่ยนที่ดินภายในอุทยานแห่งชาติขนาด 340 ตารางกม. ให้กลายเป็นรีสอร์ทสำหรับเล่นการพนัน .-- REUTERS/Samrang Pring.  </font></b>
<br><FONT color=#000033>ภาพมุมกว้างทำให้เห็นว่าต้นไม้ในผืนป่าของอุทยานถูกตัดโค่นเป็นพื้นที่โล่ง.-- REUTERS/Samrang Pring.  </font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น