ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ข่าวที่ระแคะระคายออกมาก่อนหน้านี้ตามเว็บไซต์กลาโหมหลายแห่งทั่วโลก ดูจะปรากฏเป็นจริง เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรุงมอสโก กล่าวในสัปดาห์นี้ ว่า รัสเซียได้ตกลงให้ความร่วมมือกับเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มผลิตจรวดร่อนบราห์มอส (BrahMos) ในเวียดนามในปีนี้
ตั้งชื่อโดยอินเดีย ซึ่งนำเอาชื่อแม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra) รวมกับชื่อแม่น้ำมอสโก หรือ “มอสควา” (Moskva) ในรัสเซียรวมกัน กลายเป็นชื่อจรวดป้องกัน/โจมตี ที่ได้รับการยอมรับมีประสิทธิภาพสูงที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจทำลายเรือรบผิวน้ำกับเรือดำน้ำ และยังติดตั้งได้ทั้งบนเรือ บนเครื่องบิน และบนบก
สำนักข่าวเรียโนวอสติ (RIA Novosti) ของรัสเซียรายงานเรื่องนี้ โดยอ้างการเปิดเผยของ มิคาอิล ดมิเตรียฟ (Mikhail Dmitriev) ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือด้านเทคนิคการทหาร หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งระบุว่า เป็นความร่วมมือรัสเซีย-เวียดนามในการผลิตจรวดร่อน (Cruise Missile) ที่มีประสิทธิภาพสูง
“ปีนี้เวียดนามจะเพิ่มขีดความสามารถและเริ่มผลิตจรวดร่อนชนิดใหม่จากพื้นฐานเดิมของจรวดอูราเนียมของรัสเซีย” โนวอสติ อ้างคำพูดของ นายดิมิเตรียฟ ซึ่งเปิดเผยด้วยว่า การผลิตจรวดร่อนของเวียดนาม เป็นโครงการคล้ายกับความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับอินเดียในการผลิตและพัฒนาจรวดอานุภาพสูงคล้ายกันนี้ และในปัจจุบันอินเดียสามารถพัฒนารุ่นติดตั้งบนเครื่องบินสำเร็จแล้ว
นอกจากนั้น เวียดนามยังขอซื้อระบบขีปนาวุธป้องกันชายฝั่งแบบ “บาสเตียน” (Bastion) ที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย ซึ่งสองฝ่าย “กำลังพูดคุยกันเพื่อทำสัญญาเกี่ยวกับขีปนาวุธชนิดอื่นๆ และสัญญาดังกล่าวจะเป็นแบบให้เงินกู้เครดิตโลนสำหรับการซื้อขาย” นายดมิเตรียฟ กล่าว
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม บาสเตียน เป็นขีปนาวุธป้องกัน/โจมตีเรือรบ ที่ได้รับการเชื่อถือมากที่สุดอีกระบบหนึ่ง ประกอบด้วยระบบข่าวเรดาร์ทันสมัยกับขีปนาวุธพิสัยใกล้-กลางที่มีน้ำหนักถึง 3 ตัน ซึ่งทำให้บรรจุหัวรบขนาดใหญ่ได้
บาสชั่นมีรัศมีโจมตีเป้าหมายทางเรือได้ไกลถึง 300 กิโลเมตร โดยร่อนในระดับเหนือน้ำทะเลระหว่าง 5-15 เมตร และ ยังสามารถเชื่อมเข้ากับระบบป้องกันที่เวียดนามมีอยู่ในขณะนี้ได้อย่างสมบูรณ์
นายดมิเตรียฟ ไม่ยอมเปิดว่า เวียดนามเจรจาซื้อระบบป้องกันทางเรือแบบนี้จำนวนเท่าไร่ แต่กล่าวว่า รัสเซียจะส่งมอบ 2 ชุดแรกให้ในปีนี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นี้ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการผลิตขีปนาวุธบราห์มอสของเวียดนามเช่นกัน
.
.
แต่สื่อข่าวกลาโหมในรัสเซียสำนักหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่จรวดร่อนบราห์มอสของอินเดียพัฒนาขึ้นจากระบบจรวดยาโค้นต์ (Yakhont) ที่มีความเร็วระดับซูเปอร์โซนิก และได้รับการยอมรับว่าเป็นขีปนาวุธที่มีความเร็วที่สุดในปัจจุบัน แต่จรวดอูรานอี (Uran E) ที่ใช้ในกองทัพเวียดนาม เป็นแบบที่มีความเร็วระดับซับโซนิค (Sub-sonic) เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งในด้านเทคโลโลยีกลาโหม
ตามข้อมูลของโนวอสติ ขีปนาวุธบราห์มอสของอินเดีย มีความเร็วสูงสุดถึง 2.8 มัค (เกือบ 3 เท่าความเร็วเสียง) เร็วกว่าจรวดร่อนโทมาฮอว์คของสหรัฐซึ่งเป็นแบบซับโซนิคราว 3 เท่าตัว ยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ ในทางเทคนิคของ “บราห์มอส” เวอร์ชั่นรัสเซีย-เวียดนาม ในขณะนี้
แต่ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของรัสเซีย เวียดนามกำลังจะมีโรงงานผลิตจรวดร่อนทันสมัยที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลก โนวอสติกล่าว
ก่อนหน้านี้ ในเดือน ม.ค.นายบอริส โอ โบโนซอฟ (Boris Obonosov) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวแห่งเดียวกันนี้เปิดเผยว่า จนถึงสิ้นปี 2554 รัสเซียได้ส่งมอบระบบจรวดทำลายเรือรบแบบ Kh-35E ครบจำนวน 31 ลูกแล้ว เพื่อติดตั้งในเรือฟรีเกตชั้นเกพาร์ด 3.9 ที่ซื้อจากรัสเซียจำนวน 2 ลำ เวียดนามสั่งซื้อจรวดทั้งหมดเมื่อปี 2552
นั่นคือ เรือรบทันสมัยที่สุดของเวียดนามในปัจจุบัน และ สำนักข่าวกลาโหมได้ระแคะระคายเมื่อต้นปีนี้ว่า เวียดนามได้เซ็นซื้ออีก 2 ลำ กำหนดส่งมอบในปีหน้า
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมในรัสเซียอีกแห่งหนึ่งรายงานในเดือน ม.ค.ว่า เวียดนาม จะเริ่มต่อเรือเร็วติดจรวดอีกชนิดหนึ่ง จำนวนอย่างน้อย 4 ลำในปีนี้ หลังจากรัสเซียได้ส่งมอบชิ้นส่วนที่จำเป็นต่างๆ ให้จนครบในปลายปีที่แล้ว เป็นเรือเร็วโจมตีแบบเดียวกับที่ประจำการในกองทัพเรือรัสเซีย
เจ้าหน้าที่รัสเซียให้สัมภาษณ์ปลายปีที่แล้วว่า รัสเซียถือเวียดนามเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับอินเดียในเอเชียใต้ และเวียดนามจะได้รับสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมกับอินเดียทุกประการในความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ