เอเอฟพี - ไนจีเรีย, อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ติดอันดับชาติที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุด ขณะที่จีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก มีอัตราการทำลายป่าน้อยที่สุด ผลการจัดอันดับเผย วันนี้ (24)
ความต้องการอาหารและพลังงานชีวภาพ, การเพิ่มของประชากร, ความยากจน และการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา ผลการจัดอันดับโดยบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยง เมเปิลครอฟต์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก 180 ประเทศ ระบุ
เมเปิลครอฟต์ ใช้ฐานข้อมูลล่าสุดจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด รวมไปถึงผืนป่าดั้งเดิมและผืนป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ ระหว่างปี 2005-2010
9 ประเทศแรกที่อยู่ในระดับเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ไนจีเรีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีเหนือ, โบลิเวีย, ปาปัวนิวกินี, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, นิการากัว, บราซิล และกัมพูชา ส่วน ออสเตรเลียอยู่ในลำดับที่ 10 และจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงรองลงมา
อินเดีย, เวียดนาม และสเปน มีอัตราการทำลายป่าน้อยที่สุด และอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ
ประเทศในกลุ่มเสี่ยงสูงสุดกำลังสูญเสียพันธุ์พืชและสัตว์ซึ่งให้ประโยชน์ตามธรรมชาติ เช่น สร้างอากาศบริสุทธิ์, เป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำลำธาร และเป็นแนวป้องกันชายฝั่ง ซึ่งคุณประโยชน์เหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
“การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากป่ามีส่วนช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยการดูดซับคาร์บอนเอาไว้” เอเรียนนา แกรนซิเอรา นักวิเคราะห์จากเมเปิลครอฟต์อธิบาย
อินโดนีเซียสูญเสียผืนป่าเกือบ 10,000 ตารางกิโลเมตรในแต่ละปี หรือราว 13 เท่าของพื้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยสาเหตุร้อยละ 16 มาจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เมเปิลครอฟต์ เผย
อัตราการตัดไม้ทำลายป่าของบราซิลลดลงเหลือปีละราว 22,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 2005-2010 ทว่านักอนุรักษ์ต่างกังวลว่า ร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการปกป้องผืนป่าซึ่งยังรอการอนุมัติจากสภาสูง อาจผ่อนปรนข้อจำกัดเดิมลง ทำให้เกษตรกรสามารถแผ้วถางป่าเพื่อเพาะปลูกได้มากขึ้น
ไนจีเรีย ซึ่งเป็นชาติที่ตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในโลก สูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 20,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ระหว่างปี 2005-2010 อันเนื่องมาจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม, อุตสาหกรรมป่าไม้ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
ด้าน จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำลายป่าไม้น้อยที่สุด เนื่องจากมีกฎหมายเข้มงวดและโครงการปลูกป่าทดแทนมีประสิทธิภาพ ก็กลับเป็นสาเหตุของการตัดไม้เพิ่มขึ้นในประเทศอื่นๆ แกรนซิเอรา ระบุ
“ความต้องการใช้ไม้ในจีนกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาสหรัฐฯและแคนาดา แต่ก็มีรายงานการนำเข้าไม้ผิดกฎหมายจากบราซิล, กัมพูชา และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”