ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของพม่า ที่เมืองทวาย ในเขตตะนาวศรี โดยนักลงทุนจากไทย ได้ทำให้เจ้าของบ้านกลายเป็นคนพลัดถิ่นถึง 23,120 คน ทั้งหมดจะถูกโยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งในที่แห่งใหม่ ในขณะที่ติหาตูราทินอองมี้นอู (Thiha Thura Tin Aung Myint Oo) รองประธานาธิบดี ได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้จิตกรุณา ในการให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น
ชาวพม่าทั้งหมดเป็นราษฎรใน 18 หมู่บ้าน จำนวน 3,984 ครอบครัว ที่อยู่ในพื้นที่ 204.1 ตารางกิโลเมตร อันเป็นพื้นที่สัมปทานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทก่อสร้างใหญ่ที่สุดจากประเทศไทย
ได้มีการเปิดเผยตัวเลขละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระหว่างการเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายโดยรองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 1 ในวันจันทร์ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารของอิตาเลียนไทย ในพม่า รวมทั้ง นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานของบริษัทแม่ในประเทศไทยด้วย หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงาน
ติหาตูรามี้นอู อดีตนายพลเอก เลขาธิการที่ 1 สภาปกครองทหาร นับเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกที่ไปเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งแต่เซ็นสัญญาโครงการเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งผู้ลงทุนจากไทยจะต้องใช้เงินทุนราว 50,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาตลอด 10-20 ปีข้างหน้า
ติหามี้นอู ได้ขอให้ฝ่ายต่างๆ ใช้จิตกรุณาในการให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ และ ทำการอพยพโยกย้ายคนเหล่านั้นก็ต่อเมื่อการก่อสร้างที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ ซึ่งรวมทั้งบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด สนามกีฬา ระบบประปาและไฟฟ้าแล้วเสร็จเท่านั้น
รองประธานาธิบดีพม่า ยังเน้นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาที่ทำกิน พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และให้การสนับสนุนด้านเงินจนกว่าคนเหล่านั้นจะสามารถสร้างผลกำไรได้ นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กล่าว
“ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการก่อตั้งหมู่บ้านแห่งต่างๆ ให้มีการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจัดระบบดูแลรักษาสุขภาพของเด็กๆ อย่างอัตโนมัติ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น จึงจะเกิดการพัฒนาชนบทท้องถิ่นและหมู่บ้านแห่งต่างๆ ได้รับจัดตั้งขึ้นมา”
รองประธานาธิบดี ติหามี้นอู ยังได้ขอให้บริษัทผู้ลงทุนเน้นการกำกับดูแลด้านสภาพแวดล้อมอีกด้วย หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล กล่าว
ในต้นเดือน ม.ค.ทางการพม่าได้ประกาศ ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยอ้างความห่วงใยด้านสภาพแวดล้อม และ ขอให้ผู้ลงทุนจากประเทศไทยมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อทดแทน
.
.
เดือน ก.ย.ปีที่แล้วรัฐบาลใหม่ได้ทำให้ทุกฝ่ายแปลกใจ โดยประกาศยกเลิกโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า 8,000 เมกะวัตต์ของนักลงทุนจีนในรัฐกะฉิ่น หลังจากเสียงคัดค้านดังขึ้นในประเทศ ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวในช่วงนั้นว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จะต้องฟังเสียงของประชาชน
สำรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การพัฒนาในเฟสที่ 1 อาจจะต้องใช้เงินลงทุนราว 8,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเพื่อสร้างถนน 8 ช่องจราจรกับทางรถไฟระยะทาง 170 กม.ไปยังชายแดน จ.กาญจนบุรี สร้างท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันคู่ขนาน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 1 แห่ง ท่าเรือน้ำลึกที่รับเรือขนาด 200,000-300,000 ตันได้ในอนาคต
อีกราว 10 ปีข้างหน้า เขตเศรษฐกิจทวายจะมีโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่น้อยอีกจำนวนมาก สร้างงานให้กับราษฎรในท้องถิ่นนับหมื่นคน และ กลายเป็น "ประตูบานใหญ่" ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของอิตาเลียนไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยอมรับว่า บริษัทยังคงเจรจาและมองหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพเพื่อร่วมก่อสร้างโครงการทั้งหมด
รองประธานาธิบดี มี้นอู กล่าวในวันจันทร์นี้ ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็งเส่ง ได้เน้นในการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และผลลัพธ์ก็คือ ความสัมพันธ์กับประชาคมระหว่างประเทศนับวันพัฒนายิ่งขึ้น ปัจจุบันรูปการแห่งความสัมพันธ์ร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจสามารถมองเห็นได้
พม่ากำลังจัดเตรียมการด้านกฎหมายเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง คือ ติลาวา (Thilawa) ในกรุงย่างกุ้ง และ ที่จ๊อกพะยู (Kyaukpyu) ในรัฐระไค (ยะไข่) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ติหามี้นอู กล่าว
ปัจจุบันนักลงทุนจีนกับนักลงทุนในพม่ากำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตติลาวา ซึ่งจะมีท่าเรือใหญ่อีกแห่งหนึ่ง บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังเร่งก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอีกแห่งหนึ่งที่จ๊อกพะยู ตลอดจนสถานีต้นทางสำหรับก๊าซและน้ำมัน เพื่อส่งไปยังจีนผ่านระบบท่อที่กำลังก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปีหน้า
ปลายปีที่แล้วจีน-พม่า ได้เซ็นความตกลงฉบับหนึ่ง เพื่อสร้างทางรถไฟจีน-พม่า เชื่อมถึงท่าเรือใหญ่ในเขตเศรษฐกิจจ๊อกพะยู ทางรถไฟช่วงแรกระยะทางกว่า 100 กม.จากชายแดนจีนไปถึงเมืองลาเฉียวในรัฐชาน มีกำหนดเปิดใช้ในปี 2556