ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- อุปกรณ์จับปลาได้กลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิดกฎจราจรหลบหนีการจับกุม หรือฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่หลังการละเมิด ทางการ จ.แท๊งฮวา (Thanh Hoa) ได้อนุญาตให้ตำรวจจราจรใช้แห เป็นเครื่องมือเพื่อการดังกล่าว ซึ่งทีทั้งเสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์จากสังคม
จังหวัดในภาคกลางตอนบนเวียดนามแห่งนี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้แหกับนักขับขี่ที่กระทำผิดและปฏิเสธที่จะหยุดรถตมคำสั่งเจ้าพนักงารนเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้กับบุคคลทั่วไปที่สัญจรไปมา และปฏิบัติตามกฎจราจรกับคำสั่งของเจ้าพนักงานอย่างเคร่งครัด หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงาน
ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เวียดนามคล้ายกับมาตรที่ตำรวจกองปราบปรามของไทยในยุคหนึ่งเคยนำมาใช้คือ การใช้ตาข่ายดักปลากั้นขวางถนนเพื่อ
ดักจับแก๊งจักรยานยนต์ซิ่งของบรรดาวัยรุ่นที่รบกวนความสงบสุขของสังคมในยามค่ำคืน ตาข่ายช่วยให้เจ้าหน้าที่จับกุมเด็กแว้นเหล่านี้ได้คราวละมากๆ และช่วยลดปัญหานี้ลง แต่หลายครั้งทำให้มีการบาดเจ็บถึงสาหัส และตำรวจไทยต้องหยุดใช้วิธีนี้ไปในที่สุด
แต่ พ.ท.หมีซวีซวน (My Duy Xuan) รองผู้กำกับการตำรวจจราจรของจังหวัดกล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าวจะใช้กับผู้ที่ขับขี่รถด้วยความเร็วสูง ขับฉวัดเฉวียนบนท้องถนน หรือขับขี่ที่มีลักษณะอันตรายมากเท่านั้น โดยให้เจ้าหน้าที่ "เหวี่ยงแห" เข้าตรงล้อหลังของรถจักรยานยนต์ ซึ่งแหจะพันเข้ากับกงล้อแน่นจนรถแล่นต่อไปไม่ได้ บังคับให้ต้องหยุดโดยอัตโนมัติ
"เราใช้แหและจับกุมพวกขับขี่จักรยานยนต์ผิดกฎหมายได้ 21 คนแล้วในหลายอาณาบริเวณสี่แยกรวมทั้งแยกใหญ่บนทางหลวงสาย 1A ขณะซิ่งเข้าตัวเมือง" พ.ท.ซวนกล่าว ซึ่งหมายถึงทางหลวงสายเหนือใต้จากกรุงฮานอยผ่านจังหวัดนี้ไปยังนครโฮจิมินห์และภาคใต้ของประเทศ
ทันทีที่สำนักข่าวออนไลน์หลายแห่งเผยแพร่ภาพและข่าวนี้ออกไป ได้มีเสียงตอบรับจากผู้อ่านจำนวนมาก หลายเสียงแสดงความยินดีที่อุปกรณ์จับปลาช่วยแก้ปัญหาอันน่ารำคาญนี้ได้ แต่หลายเสียงก็กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายได้ และอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
แต่ พ.ท.ซวนกล่าวว่า การใช้แหเหวี่ยงไม่ได้ทำให้ผู้ขับขี่ที่เป็นปัญหาได้รับบาดเจ็บ และยังไม่เคยทำให้เกิดอุบัติแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ
"ตั้งแต่ใช้วิธีนี้มาได้เกือบเดือน ยังไม่มีการร้องเรียนจากฝ่ายใดเลย" นายตำรวจคนเดียวกันกล่าวกับหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋.
.
2
3