xs
xsm
sm
md
lg

ลาวอพยพคน 13 หมู่บ้านหนีเขื่อนน้ำคาน 2 หลวงพระบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>ภาพถ่ายวันที่ 7 มี.ค.2550 ในยามเช้าที่หมอกจางๆ ปกคลุมไปทั่ว มองจากสะพานเหล็กข้ามลำน้ำคานระหว่างเมืองงากับเมืองหลวงพระบาง ย้อนไปยังปลายน้ำ มองเห็นเรือนเก่าสมัยอาณานิคมจำนวนหนึ่งอยู่ด้านซ้ายมือ พระธาตุจอมสีประดิษฐานโดดเด่นแต่ไกลอยู่บนยอดภูสี เบื้องหลังภูจึงจะเป็นเขตเมืองเก่า น้ำในลำน้ำเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสายนี้ถึง 2 แห่งเพื่อลิตไฟฟ้าใช้ในแขวงภาคเหนือ โดยรัฐบาลลาวลงทุนเองทั้งหมด. -- ภาพโดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร.  </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการลาวได้อพยพราษฎรจำนวน 13 หมู่บ้าน ออกจากบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 ในเขตเมืองเซียงเงิน แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีนี้ สื่อของทางการรายงานอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการ

รัฐบาลลาวลงทุนเองถึง 350 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างเขื่อนขนาด 130 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินกู้จากจีนผ่านธนาคารส่งออกและนำเข้าของจีน และบริษัท ซิโนไฮโดรคอร์ป (Sinohydro Corporation) รับเหมาก่อสร้าง กำหนดเปิดใช้การในปี 2557

ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะนำเข้าระบบของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เพื่อใช้ในหลายแขวง (จังหวัด) ภาคเหนือของประเทศ นายทองพัน ทองสา รองหัวหน้าโครงการเขื่อนแห่งนี้กล่าวกับสำนักข่าวสารปะเทดลาว

ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 9 หมู่บ้านอยู่ในเขตเมือง (อำเภอ) เซียงเงิน อีก 4 หมู่บ้านในเขตเมืองปากคูน แขวงหลวงพระบาง ทั้งหมดได้รับเงินชดเชยจากทางการรวมกว่า 70,000 ล้านกีบ (263 ล้านบาทเศษ) นายทองพัน กล่าวโดยไม่ได้ให้จำนวนราษฎรที่ได้รับผลกระทบและต้องอพยพออกไปจากพื้นที่

เจ้าหน้าที่คนเดียวกันยังกล่าวอีกว่า การสร้างเขื่อนได้จ้างงานคนในพื้นที่ระหว่าง 4,000-5,000 คน และ มีการตัดถนนระยะทาง 37 กม.เข้าสู่แหล่งก่อสร้างด้วย

ลำน้ำคานเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดในเขตป่าต้นน้ำรอยต่อแขวงหลวงพระบางกับแขวงเชียงขวาง ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบางทำให้เกิดบริเวณ “น้ำสองสี” ขึ้นในแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้ง และ ทำให้เกิดทัศนียภาพสวยงามเมื่อมองลงจากบริเวณวัดพระธาตุจอมสีที่อยู่บนภูสี

ตามรายงานก่อนหน้านี้ บริษัทจีนแห่งหนึ่งได้ศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขเรียบร้อย ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น