xs
xsm
sm
md
lg

ช่างน่าทึ่งจริงๆ ลาวประเทศเล็กๆ กำลังจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าเกือบ 90 เขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR ><FONT color=#000033>เขื่อนน้ำงึม (1) ในแขวงเวียงจันทน์ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศใช้งานมาตั้งแต่ปี 2511 ขยายกำลังผลิตมาเป็นระยะ นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว มีการเซ็นสัญญาหรือบันทึกช่วยความจำกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสำรวจและก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 88 แห่ง ลาวกำลังจะเป็นเสมือนหม้อแบตเตอรี่มหึมาใหญ่หากเทียบกับขนาดของประเทศ ปัจจุบันมีเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้ว 18 แห่ง ไฟฟ้าเป็นแขนงที่นำเงินเข้าประเทศมากเป็นอันดับสองเมื่อปีที่แล้ว. -- ภาพ: เวียงจันทน์ใหม่.  </b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรราว 6 ล้านคน และไร้ทางออกสู่ทะเล กำลังจะมีเขื่อนเกือบ 90 เขื่อน ในนั้นเกือบ 20 แห่งผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว ขณะที่ทั่วประเทศมีระบบสายส่งไฟฟ้ารวมกันคิดเป็นระยะทางราว 40,000 กิโลเมตร และยังจะยาวกว่านี้อีก

ทั้งหมดเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการในรายงานประจำปี 2544-2555 ของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ตัวเลขทั้งหมดรวบรวมจนถึงต้นเดือน ส.ค.ปีเดียวกัน สื่อของทางการรายงาน

จนถึงช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการเซ็นสัญญาเอ็มโอยู ฯลฯ กับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ จำนวน 88 โครงการ มีกำลังติดตั้งรวมกันกว่า 20,000 เมกะวัตต์ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนทั้งหมดจะผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ไม่น้อยกว่า 100,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

เขื่อนที่กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันซึ่งมีกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป มีจำนวนทั้งหมด 18 แห่ง ได้แก่เขื่อนน้ำดง น้ำกอ น้ำงาย น้ำยอน น้ำทา 3 น้ำงึม 1 น้ำเลิก น้ำมัง 3 น้ำซอง น้ำหลีก ½ น้ำงึม 2 น้ำพาว เทินหินบูน น้ำเทิน 2 ห้วยเหาะ เซละบำ เซเสด 1 และ เซเสด 2 รวมกำลังติดตั้ง 2,572 เมกะวัตต์

ถ้าหากนับรวมไฟฟ้าที่ผลิตนอกระบบเข้าไปด้วย กำลังติดตั้งทั่วประเทศจะรวมเป็น 2,576 เมกะวัตต์ หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ของทางการนครเวียงจันทน์รายงาน

จนถึงเดือน ส.ค.2555 มีการเซ็นบทบันทึกเพื่อความเข้าใจกับนักลงทุนเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ จำนวน 39 โครงการ เซ็นสัญญาพัฒนา 28 โครงการ และเซ็นสัญญาสัมปทาน 13 โครงการ ในนั้น มี 9 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ขณะนี้มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 24 โครงการ ที่ลงทุนและบริหารจัดการเองโดยรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว รวมกำลังติดตั้งกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในนั้นกำลังก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่ เขื่อนห้วยลำพันใหญ่ น้ำคาน 2 กับโครงการแม่สะนา และที่กำลังผลิตไฟฟ้ามีจำนวน 10 แห่ง คือ น้ำดง น้ำกอ น้ำงึม 1 น้ำเลิก น้ำมัง 3 น้ำซอง เขื่อนเซละบำ เซเสด 1 และเซเสด 2 รวมกำลังติดตั้งทั้งหมดเกือบ 400 เกมะวัตต์

รายงานของกระทรวงพลังงานฯ ระบุว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้แก่การผลิต และการพัฒนาแขนงอื่นๆ สนองความต้องการไฟฟ้าทั้งในประเทศ และเพื่อส่งออก

ลาวได้ประกาศนโยบายเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จะพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็น “แบตเตอรี่แห่งภูมิภาค”

การผลิตไฟฟ้าเป็นแขนงการลงทุนที่นำหน้ามาตลอด และทำรายได้ให้ประเทศมากเป็นอันดับ 1 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแขนงเหมืองแร่ได้พลิกขึ้นมานำเงินเข้าประเทศได้มากที่สุด.
.
<bR ><FONT color=#000033> เมื่อเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2553 เขื่อนน้ำเทิน 2 ขนาด 1,100 เมกะวัตต์ได้กลายเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดของประเทศแทนที่น้ำงึม 1 แต่เมื่อเขื่อนไซยะบูลีกั้นแม่น้ำโขงก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 3 หรือ 4 ปีข้างหน้า น้ำเทิน 2 ก็จะตกอันดับเขื่อนใหญ่ที่สุดไป แต่ยัง.. ยังมีเขื่อนใหญ่กว่านั้นอีกซึ่งจะทยอยผุดขึ้นมาในช่วง 5-10 ปีนี้. -- AFP Photo/NTPC/Vincent Gautier. </b>
<bR ><FONT color=#000033>พิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเขื่อนน้ำหลีกมีขึ้นในเดือน ธ.ค.2550 ปัจจุบันยังมีเขื่อนอีกนับ 10 แห่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง มี 18 แห่งกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ อีก 60 แห่งอยู่ระหว่างการสำรวจ หรือ ดำเนินการในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ลาวกำลังจะเป็นหม้อแบตเตอรี่ที่ใหญ่โตในอนุภูมิภาค. -- ภาพ: Poweringprogress.Org </b>
กำลังโหลดความคิดเห็น