3 ผู้สมัครท้าชิงผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่เปิดวิชันเข้าบริหาร กฟผ. ต่างแสดงความวิตกความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทยหลังโรงไฟฟ้าใหม่มีแรงต้านสูง การพึ่งก๊าซฯ ผลิตไฟอนาคตหนีไม่พ้นแอลเอ็นจีที่มีราคาสูง ชี้หากถ่านหินไม่เกิดโอกาสเห็นค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วยไม่ไกลเกินจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 มิ.ย.) ช่วง 13.30 น. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้เปิดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้ว่าการคนที่ 12 ที่สำนักงานใหญ่ กฟผ.บางกรวยให้พนักงานได้รับฟัง ซึ่งให้เวลาคนละ 30 นาที โดยมีผู้สมัครเข้าแสดงวิสัยทัศน์ 3 คน ได้แก่ นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม และนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คนได้ไปแสดงวิสัยทัศน์ในช่วงเช้าต่อคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีนายคุรุจิต นาครทรรพ เป็นประธาน โดยคาดว่ากระบวนการสรรหาจะนำเสนอเข้ารายงานต่อบอร์ด กฟผ.ภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้ทันนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าฯ กฟผ.คนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงวันที่ 30 ก.ค. 56
นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง กล่าวว่า ความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทยเป็นสิ่งที่น่าห่วงในอนาคต โดยเฉพาะระบบสายส่งของไทยที่มีอายุใช้งานมานานแล้ว ซึ่งกรณีไฟดับภาคใต้ถือเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข และล่าสุดปัญหาเฉพาะที่ต้องเตรียมรับมือคือภาคอีสาน เร็วๆ นี้ที่โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 สปป.ลาวเตรียมแจ้งหยุดผลิตชั่วคราวเพื่อกวาดขยะในอ่างทำให้ กฟผ.ต้องเตรียมรับมือกับการสำรองที่อาจต่ำลง
“ภาคอีสานจะต้องเสริมระบบสายส่งช่วงที่เป็นคอขวดที่ชัยภูมิ และขอนแก่น 2 ขณะที่ภาคใต้เอง อนาคตปี 2561 ก็จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เสี่ยงที่หากความต้องการใช้ไฟยังขยายตัวเช่นนี้ต่อไปก็จะต้องเร่งหาโรงไฟฟ้าให้มีกำลังผลิตที่พอต่อความต้องการ ซึ่งความเชื่อมั่น กฟผ.ได้ลดต่ำลงมากจากกรณีไฟดับ ดังนั้นจากนี้ กฟผ.ต้องรีแบรนด์ตัวเองใหม่”
นอกจากนี้ จากที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ได้เปิดเสรีมีความร่วมมือในแง่ดีไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าอาเซียน ทำให้มีโอกาสซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งล่าสุดไทยได้ลงนามเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าจากจีนอีก 3 พันเมกะวัตต์ แต่เออีซีก็ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านขาดแคลนบุคลากรของ กฟผ.มากขึ้นเพราะจะเกิดการซื้อตัวพนักงาน ซึ่งต้องหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา
นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลเมื่อการผลิตไฟไทยพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 67.56% กว่า 50% เป็นก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งในอีก 10-15 ปีจะเริ่มทยอยหมดลงทำให้ต้องไปพึ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพงมาก ประเมินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีถึงปี 2573 หากไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่ง และนิวเคลียร์ 2 แห่งตามแผนค่าไฟฟ้าฐานจะขึ้นไปมากกว่า 6 บาทต่อหน่วยจึงเป็นความท้าทายว่า กฟผ.จะทำอย่างไร
“เราต้องเร่งบริหารการจัดการไฟฟ้าเพื่อการประหยัด และขยายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่สองสิ่งนี้หากทำเต็มที่ก็ไม่สามารถทำให้ระบบไฟมั่นคงตามการขยายตัวเศรษฐกิจได้ ทางที่เหลือคือซื้อไฟต่างประเทศแต่ถ้ามากไปก็เสี่ยงมั่นคง เชื้อเพลิงที่เหลือคือแอลเอ็นจีและถ่านหิน ซึ่งนิวเคลียร์คงตัดไปได้เลย แต่แอลเอ็นจียังไงก็ต้องเข้ามาแล้วเพราะโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพีล่าสุดต้องใช้แอลเอ็นจีทั้งหมดอย่างหนีไม่พ้น ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เองเวลานี้ค่อนข้างถูกต่อต้านมากโดยเฉพาะถ่านหิน จึงเห็นว่าเราจะต้องนำเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่ให้ กฟผ.อยู่อย่างเดียวดาย” นายพงษ์ดิษฐกล่าว
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กล่าวว่า อนาคตต้องมาทบทวนว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งขณะนี้หลายโรงเก่า ประสิทธิภาพต่ำกว่าโรงใหม่ๆ จะดำเนินการอย่างไรระหว่างการปรับปรุงหรือสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิม เช่น บางปะกง หากเป็นโรงใหม่ก็จะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำลงด้วย ขณะเดียวกัน สิ่งที่กังวลคือการพึ่งพิงก๊าซฯ ผลิตไฟที่มากเกินไปก็จะเสี่ยงต่อความมั่นคงและค่าไฟที่แพงขึ้น