ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สัปดาห์นี้ กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) ได้ประกาศการพบกวางป่าซาวลา (Saola) ในเวียดนาม เว็บไซต์ขององค์การและขบวนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก เผยแพร่ทั้งข่าว และภาพกันครึกโครม เมื่อสัตว์หายาก และใกล้สูญพันธุ์ยิ่งยวดชนิดนี้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหายหน้าไปนานถึง 15 ปี ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ใดแน่ใจว่ายังมีเหลืออยู่อีกหรือไม่ในเวียดนาม
ความที่เป็นสัตว์หายาก และพบเพียงแหล่งเดียวในโลกคือ ผืนป่ากับเทือกเขาอันนัม ชายแดนเวียดนามกับลาว ทำให้มันได้รับการขนานนามเป็น “ม้ายูนิคอร์นแห่งเอเชีย”
และด้วยอุปนิสัยที่อาศัยอยู่ในเขตป่าดิบหนาทึบ หลบซ่อน และหลบเลี่ยงการพบปะกับผู้คนทำให้ยากที่จะพบตัว และไม่สามารถสำรวจประชากรของพวกมันได้ ขณะที่นักอนุรักษ์กล่าวว่าปัจจุบันพวกนี้อาจจะเหลืออยู่ตั้งแต่ไม่กี่สิบตัว จนไม่ถึง 200 ตัวเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น ซาวลา ยังไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมันได้ เมื่อราว 20 ปีก่อนเจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเคยนำซาวลาหลายตัวไปทดลองเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ แต่พวกนั้นได้ล้มตายลงทีละตัวๆ จนหมดทุกตัว ซึ่งถือเป็นการสูญเสียที่สำคัญมาก แต่ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทราบว่า ซาวลา ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้เลยในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย
กองทุนเพื่อสัตว์ป่าฯ กล่าวว่า ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีสัตว์แปลกๆ ชนิดหนึ่งปรากฏในภาพถ่ายโดยกล้องอินฟราเรดที่ติดตั้งไว้ในเขตอนุรักษ์ฯ จ.กว๋างนาม ติดชายแดนลาว และนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจจนแน่ใจว่า สัตว์ในภาพนั้นคือ ซาวลา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่ติดตามดูแลสัตว์หายากชนิดนี้ต่างยินดีปรีดา
“ตอนเห็นภาพครั้งแรกทีมพวกเราแทบไม่เชื่อสายตา ซาวลา เป็นเสมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ (ในไบเบิล) สำหรับนักอนุรักษ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันทำให้เราตื่นเต้นกันเอามาก” นายเวินหง็อกตี๋ง (Van Ngoc Tinh) ผู้อำนวยการ WWF ประจำเวียดนามกล่าวในคำแถลงเมื่อวันที่ 12 พ.ย.นี้
“มันเป็นการพบที่น่าตื่นตาตื่นใจ และทำให้เกิดความหวังที่จะได้เห็นการอยู่รอดของพวกนี้อีกครั้งหนึ่ง” นายตี๋งกล่าว
ซาวลา ในภาษาเวียดนามมีความหมายแฝงว่า “ล้ำค่าดุจเดือนและดาว” เป็นสัตว์วงศ์เดียวกันกับพวกวัว แต่มีรูปร่างคล้ายกวางป่ามากกว่าวัว พบครั้งแรกในปี 2535 ในเขตป่าสงวนรอยต่อ จ.เหงะอาน (Nge An) กับ จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) ในภาคกลางตอนบนเวียดนาม ซึ่งทำให้ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็น Pseudoryx nghetinhensis มันมีจุดโดดเด่นสำคัญมากที่เขาปลายแหลมคู่ที่อาจจะยาวถึง 50 ซม. (20 นิ้ว)
กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลกกล่าวว่า การพบซาวลาครั้งนั้นยังเป็นการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์ใหม่ของโลกครั้งแรกในรอบ 50 ปี
.
1
ในเดือน ส.ค.2553 ราษฎรในพื้นที่แขวงบอลิคำไซ ของลาวจับซาวลาได้ตัวหนึ่ง ในเขตป่าสงวนใกล้ชายแดนเวียดนาม ซึ่งเปนการพบซาวลาครั้งแรกใสวนรอบทศวรรษ แต่เมื่อนำมันกลับเข้าหมู่บ้าน ซาวลาได้เสียชีวิตลงในเวลา 2-3 วัน ด้วยความเหนื่อยอ่อนหมดแรง ซึ่งได้ช่วยยืนยันในความเปราะบางของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้
สำหรับลาว ครั้งนั้นก็เป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่พบซาวลานับตั้งแต่ปี 2542 หลังจากมีตัวหนึ่งปรากฏในภาพถ่ายโดยกล้องอินฟราเรดที่นักอนุรักษ์นำไปติดไว้ในเขตป่าสงวนนากาย-น้ำเทิน แขวงคำม่วน ใกล้กับแหล่งก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2
ก่อนหน้านั้น ในปี 2539 เคยมีรายงานว่ามีการทำเอา ซาวลา อีกตัวหนึ่งในลาวออกจากป่าเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อทำการศึกษาคร่าวๆ เกี่ยวกับพวกมัน และซาวลาตัวนั้นเสียชีวิตลงในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
นายดั่ง ดีง งเวียน รองหัวหน้าเขตสำนักงานพิทักษ์ป่า จ.กว๋างนาม กล่าวว่า ในเวียดนามพบซาวลา ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2541 การพบอีกครั้งหนึ่งในปีนี้จึงเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ในความพยายามที่จะช่วยให้ ซาวลา อยู่รอดปลอดภัย ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลก และยังสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการอนุรักษ์ได้ผล
ถึงแม้จะไม่มีผู้ใดทราบเลยว่า ยังมี ซาวลา เหลืออยู่ในดินแดนเวียดนามหรือไม่ก็ตาม แต่หลายปีมานี้ ทางการได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ซาวลาขึ้นมาทั้งหมด 3 แห่ง ในเขตป่าสงวน จ.เหงะอาน-ห่าตี๋ง จ.เถือะเทียนเหว (Thua Thien Hue) และที่ จ.กว๋างนาม เป็นแห่งล่าสุดเมื่อปี 2553 โดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าระหว่างประเทศหลายแห่ง มีการจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไล่ล่าพวกลักลอบล่าผิดกฎหมายซึ่งเป็นศัตรูสำคัญที่สุด
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่หน่วยพรานไพรกวาดล้างทำลายกับดักได้กว่า 30,000 ชุด ทำลายเพิงพักของพวกนักล่าได้กว่า 600 แห่ง นายงเวียนกล่าว
พบเห็นมา 20 ปีแล้ว แต่จนบัดนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ กับนักอนุรักษ์ก็ยังรู้จักซาวลากันน้อยมาก จนเกือบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเมื่อตอนที่พบรู้จักกันเป็นครั้งแรก.
.
2
3
4