xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วย “มะเร็ง” อนาถานอนรอรักษาบน “ฟุตปาธ” หน้ารพ.อินเดียนับสิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ถนนสายหนึ่งในเมืองมุมไบที่มีเพียงผ้าพลาสติกหลากสีสันกางเรียงต่อกันเพื่อป้องกันคนไข้จากฝนในฤดูมรสุม กลายเป็นที่พักชั่วคราวของผู้ป่วยของหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงทางด้านการรักษาโรคมะเร็งเป็นอันดับต้นๆ ในอินเดีย

ทุกๆ ปี จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายหมื่นคนพากันมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมโมเรียลทาทา เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งนี้มีการลดค่ารักษาพยาบาลให้เป็นจำนวนมาก แต่โรงแรมและห้องเช่าที่ราคาแพงลิบได้บีบให้ผู้ป่วยหลายสิบคนต้องนอนตามฟุตปาธใกล้โรงพยาบาล

“มีทั้งหนู ยุง และสิ่งสกปรกเต็มไปหมด” สุเรช ปาตีดาร์ เกษตรกรคนหนึ่งกล่าว ทั้งนี้เขาเดินทางมากับลีลา ภรรยาวัย 55 ที่มารักษาโรคมะเร็งทรวงอก

“เราพยายามจะไปปักหลักที่ฟุตปาธอีกฝั่งหนึ่งของถนน แต่ตำรวจไม่ยอม”

“ค่าโรงแรมแพงมาก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปพักที่นั่น” เขากล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

เนื่องจากบ้านของพวกเขาอยู่ที่รัฐมัธยประเทศ ทางภาคกลางของอินเดีย ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ทำให้การนอนริมถนนนานร่วมเดือนเป็นทางเลือกราคาย่อมเยาที่สุดสำหรับสามีภรรยาปาตีดาร์ แม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับฝนที่เทลงมาราวกับฟ้ารั่วอยู่เป็นประจำ

โรงพยาบาลทาทามีบริการจัดหาห้องพักที่มีราคาถูกหรือกระทั่งฟรีตามย่านต่างๆ รอบเมืองให้ผู้ป่วยนอกที่มีฐานะยากจน และกำลังจัดบริการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวอินเดียก็มีมากขึ้นทำให้การจัดสรรห้องให้เพียงพอกับผู้ป่วยยังคงเป็นเรื่องยาก

“มีคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด” เอส เอช จาฟรี โฆษกของโรงพยาบาลกล่าว “มีเอ็นจีโอจำนวนมากที่นำอาหารและข้าวของต่างๆ มาให้พวกเขาตามฟุตปาธ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขายังทนอยู่ที่นี่”

เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ฟุตปาธบริเวณนี้ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของบรรดาคนไข้และครอบครัวที่เดินทางมาด้วยกัน แต่ก็มีสัญญาณเตือนว่าชาวบ้านในพื้นที่นี้เริ่มทนเพื่อนบ้านที่ป่วยเรื้อรังเหล่านี้ไม่ไหวแล้ว

ที่สถานีตำรวจใกล้เคียง สารวัตรสุนิล ทอนด์วัลการ์กล่าวว่าได้ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารนครมุมไบเพื่อขอให้ย้ายผู้ป่วยที่นอนข้างถนนเหล่านี้ไปยังที่พักอาศัยที่มีความเหมาะสมกว่าแล้ว

ชาวบ้านบ่นว่าคนไข้เหล่านี้กีดขวางทางเดินบนฟุตปาธ และบอกว่า “พวกเขาทั้งกินและขับถ่ายบนฟุตปาธ และท้องถนน เป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะเลย” ทอนด์วัลการ์กล่าว

นอกจากนี้ เขาต้องการให้ถนนไม่มีอะไรเกะกะปิดบังสายตาโดยให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลอาจ “ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อการร้าย” ขณะที่ “กลุ่มคนที่เป็นภัยต่อสังคม” เป็นต้นว่า ขโมย และขอทานอาจแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มผู้ป่วยได้

แม้ว่าการพักอาศัยริมถนนจะไม่มีความสะดวกสบาย แต่ตอนนี้ครอบครัวเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นเลย

ทั้งนี้ ที่อินเดียแทบจะไม่มีโรงพยาบาลอื่นๆ ที่รักษาโรคมะเร็งและคิดค่ารักษาราคาถูกเหมือนโรงพยาบาลทาทา ซึ่งลดค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมดราว 50,000 คนต่อปี โดยที่คนไข้ 14 เปอร์เซ็นต์ได้รับการรักษาฟรี จาฟารีระบุ

บรรดาผู้อาศัยข้างถนนกล่าวว่าพวกเขาเป็นผู้ที่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่ง และต้องขายที่ดินหรือปศุสัตว์เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการรักษา

“คนที่อาศัยข้างถนนเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ พวกเขาจึงไม่มีเงินเก็บระยะยาว” เอช เค ซาวลา ผู้ก่อตั้งกองทุนการกุศลชีวันชยศแคนเซอร์แอนด์แคร์ ระบุ

กองทุนการกุศลของเขาเป็นผู้จัดหาอาหาร 2 มื้อต่อวันให้คนไข้และครอบครัวของพวกเขาจำนวนประมาณ 600 คนในนครมุมไบ และเขาระบุว่าปกติแล้วมีผู้ป่วยจำนวนตั้งแต่ 150 ถึง 200 ที่ต้องออกมานอนนอกโรงพยาบาลทาทา

“พวกเขาจำเป็นต้องประหยัดเงินเพื่อเก็บไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล” เขาอธิบาย

ขณะนี้ โรงพยาบาลทาทาอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐ ทว่าตระกูลทาทาซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 1941 เพื่อเป็นการลงทุนการกุศล หลังจากที่มีญาติคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แม้ว่าจะได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งมีค่ารักษาแพงในอังกฤษแล้วก็ตาม

“พวกเขาฉุกคิดว่า แล้วผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนในอินเดียจะเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นมา” จาฟารีกล่าวทิ้งท้าย

ในประเทศอินเดียเริ่มมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2010 พบว่าประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาลแห่งนี้ มีประชาชนต้องเสียชีวิตลงเพราะโรคมะเร็งงานกว่าครึ่งล้านคน วิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ “เดอะลานสิต” เมื่อปี 2012 ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น