xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งตับคร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ย 2 คนต่อ ชม.อึ้ง! อีก 20 ปีเพิ่มเป็น 3 คนต่อ ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ไทยป่วยตายมะเร็งตับสูงเฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง คาด 20 ปี เพิ่มเป็น 3 คนต่อชั่วโมง เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี หรือซี เหล้า บุหรี่ อึ้ง! 80% ผ่าตัดแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นอีกใน 5 ปี แนะใช้ยาออกฤทธิ์เฉพาะเป้าหมายรักษาในระยะลุกลาม ช่วยยืดอายุได้นานราว 4 ปี เปิดโครงการ N-PAP เพิ่มโอกาสผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น

วันนี้ (25 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในงานเปิดตัว “โครงการ N=PAP เพิ่มโอกาสเข้าถึงยายืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ” จัดโดยมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ว่า ปัจจุบันมะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกจะพบมากเป็นลำดับ 8 ในทั่วโลก แต่ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 55 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิต 2 คนต่อชั่วโมง และหากไม่มีมาตรการใดเลยใน 20 ปี จะเพิ่มเป็นเสียชีวิต 70 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อชั่วโมง ทั้งนี้ มะเร็งเซลลตับร้อยละ 80 เกิดในประเทศกำลังพัฒนา มีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี, ซี มักพบในระยะลุกลาม แม้ว่าจะตัดเซลล์มะเร็งออกไป ก็ยังพบโรคเกิดขึ้นใหม่ใน 5 ปี หากไม่ได้รับการรักษาเลยจะมีชีวิตประมาณ 3-6 เดือน
นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า มะเร็งตับสามารถแบ่งได้เป็น มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ มะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี โดยชนิดเซลล์ตับ พบได้ในทุกภาคทั่วประเทศ ส่วนมะเร็งท่อน้ำดี จะพบในภาคอีสาน ซึ่งมะเร็งชนิดเซลล์ท่อน้ำดี จะเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ อาหารก่อมะเร็ง เช่น ปลาร้า ไส้กรอก เป็นต้น และไม่สามารถรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดเฉพาะที่ ส่วนมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ มีปัจจัยเสี่ยง คือ ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การได้รับสารอะฟลาท็อกซินจากเชื้อรา โรคตับแข็ง และโรคตับอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยมักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี หรือซี อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่ออาการอยู่ในระยะลุกลาม ทำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดทำได้ยาก ซึ่งการรักษาด้วยเคมีบำบัดเฉพาะที่ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ช่วยสามารถยืดอายุของผู้ป่วยจาก 3-6 เดือนในกรณีไม่ทำการรักษา ได้ยาวขึ้นถึง 4 ปีในบางราย

“มะเร็งเซลล์ตับ มะเร็งท่อน้ำดี และ มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่มีสาเหตุของโรคแตกต่างกัน ซึ่งมะเร็งตับสามารถกระจายไปที่ตับอ่อนได้ แต่มะเร็งตับอ่อนกระจายไปที่ตับได้น้อยมาก นอกจากนี้ มะเร็ง สามารถเกิดขึ้นที่ตัวตับโดยตรงได้ และเกิดจากการกระจายมาจากอวัยวะส่วนอื่นได้ ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องรักษาที่จุดเริ่มต้นซึ่งเกิดการกระจายของมะเร็ง ทั้งนี้ การเข้าถึงยามะเร็งส่วนใหญ่เป็นยาราคาแพง ไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงได้ การทำโครงการ N-PAP จะทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโอกาสหายของ สายัณห์ สัญญา นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า ส่วนกรณีของสายัณห์ ซึ่งพบในระยะที่ 4 จะมีโอกาสหายได้ยาก ส่วนการรอดชีวิตขึ้นอยู่กับการตอบสนองกับยาและสภาพร่างกาย ซึ่งตนทราบจากข่าวว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยชนิดนี้ไม่มากเท่ามะเร็งตับ พบผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนรายใหม่ 1,300 รายต่อปี คิดเป็นประมาณ 10% ของมะเร็งตับ ทั้งนี้มะเร็งตับอ่อน มี 2 ชนิด คือ มะเร็งตับอ่อนเซลล์ต่อมมีท่อ พบได้ 90% ของมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งตับอ่อนเซลล์ต่อมไร้ท่อ ซึ่งหากเป็นมะเร็งชนิดนี้จะเจริญช้ากว่ามะเร็งตับ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวกว่า สำหรับสาเหตุของมะเร็งตับยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เบาหวาน พันธุกรรม แต่มีส่วนไม่มากนัก และอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้ตับอ่อนทำงานมากขึ้น

รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทย 1 ต่อ 12 คน มีพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี หรือซี 1 ต่อ 12 คน ทั้งยังมีอัตราการดื่มเหล้าสูงมาก ทำให้สถานการณ์ของมะเร็งตับมีอัตราสูง สำหรับนวัตกรรมยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงเป้าหมาย (Tageted Therapy) เป็นชนิดรับประทานตัวแรกที่รักษาโดยมุ่งเป้าหมายไปยังยีน หรือโปรตีนที่ก้อนมะเร็งที่ใช้ในการเจริญเติบโตและแบ่งตัว จึงมีฤทธิ์ทำลายเฉพาะเซลล์เท่านั้น ทำให้มีผลข้างเคียงต่ำกว่าการใช้เคมีบำบัดแบบเดิม ซึ่งมีผลต่อเซลล์ปกติทั่วร่างกาย โดยพบว่าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับได้ ร้อยละ 44 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ไม่ได้รับยาจะมีอายุ 7.9 เดือน ส่วนผู้ได้รับยาจะมีชีวิต 10.7 เดือน ส่วนการวิจัยในเอเชียพบว่า สามารถยืดอายุผู้ป่วยได้ร้อยละ 47

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการ N-PAP เป็นโครงการบริจาคยาเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ เนื่องจากยามีราคาแพง ซึ่งผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้จะต้องเป็นผู้ป่วยจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่มีแพทย์เฉพาะทางให้การรักษามะเร็งตับ ได้รับการวินิจฉัยให้สามารถใช้ยาได้ตามข้อบ่งชี้ของ อย.โดยผู้ป่วยและญาติสายตรงต้องมีรายได้รวมไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อปี และไม่มีสิทธิในการเบิกยาดังกล่าวจากสังกัดใดๆ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่ใดทั้งสิ้น รวมถึงผู้ป่วยต้องสามารถรับผิดชอบค่ายาขั้นต่ำได้ตามที่โครงการกำหนดคือ ต้องซื้อยารับประทานเอง 3 เดือนแรก จำนวน 6 กล่อง จากนั้นโครงการจึงจะสนับสนุนยาฟรีจนกว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถรับยาได้อีก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมโรคได้ หรือเสียชีวิต ทำให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียงค่ายาเริ่มต้นที่ 200,000-600,000 บาท ทั้งนี้ โครงการ N-PAP ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี สามารถช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาแล้วกว่า 500 ราย โดยปี 2556 คาดว่าจะช่วยเพิ่มได้อีก 200 ราย

“การรักษาด้วยการให้ยาสามารถช่วยยืดอายุชีวิตผู้ป่วยได้ แต่ก็มีบางรายที่สามารถหายขาด โดยเคยมีรายงานจากสหรัฐอเมริกา และไทย ว่าสามารถรักษาได้หายขาดเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการรักษาที่ผสมผสานหลายแบบ และผู้ป่วยมีกำลังใจดีในการรักษา ก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ช่วยทำลายมะเร็งได้มากขึ้น ก็มีโอกาสในการควบคุมโรคได้” รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น