ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- กัมพูชายังไม่ลดละความพยายามโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อโหมกระพือให้ดูเหมือนว่ากำลังทำสงครามชายแดนกับไทย โดยกล่าวอ้างอย่างต่อเนื่องว่าทหารไทยได้โจมตีเพื่อเข้ายึดปราสาทตาเมือน กับ ปราสาทตาควาย ที่อยู่ในดินแดนกัมพูชาทางชายแดนอุดรมีชัย-สุรินทร์ ขณะเดียวกัน ก็อ้างว่า ทหารกัมพูชายังสามารถยึดครองปราสาทเก่าแก่ทั้งสองหลังเอาไว้ได้
ฝ่ายกัมพูชากล่าวอ้างดังกล่าวอีกครั้ง ในคำแถลงที่ออกในบ่ายวันจันทร์ 25 เม.ย.ในนามโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็คือ พล.ท.ชุมสุชาติ (Chhum Socheat) ที่เคยออกแถลงข่าวร่ำไห้ผ่านจอโทรทัศน์ในวันเสาร์ 23 เม.ย.หรือวันที่สองของการปะทะรอบใหม่
การกล่าวอ้างเกี่ยวกับยึดครองปราสาททั้งสองหลังได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายไทยในทุกระดับ รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โฆษกกองทัพไทย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด และ นายทหารระดับผู้บัญชาการในพื้นที่
ฝ่ายกัมพูชากล่าวหามาตลอดเช่นกัน ว่า ทหารไทยได้พยายามโจมตีในความพยายามเข้ายึดครองปราสาทตาเมือน กับตาควาย แต่ถูกกัมพูชาตีโต้กลับทุกครั้ง และไม่สามารถยึดได้
การกล่าวอ้างของฝ่ายทหารเป็นการเสริมความน่าเชื่อถือให้แก่การกล่าวอ้างโดยคณะกรรมการมรดกแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งในวันอาทิตย์ 24 เม.ย.ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง อ้างว่า ปราสาททั้งสองแห่งเป็นของกัมพูชา และได้รับความเสียหายหนักจากการปะทะ
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการดังกล่าวก็เรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วน
คำแถลงของโฆษกกลาโหม ที่ออกเวลา 16.00 น.วันจันทร์ ยังอ้างว่า ไทยส่งเครื่องบินรบ 2 ลำ “บินเหนือปราสาทตาเมือนกับตาควายซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชาใกล้กับพรมแดนธรรมชาติกัมพูชา-ไทย” และทำให้สถานการณ์ทางทหารเลวร้ายลงไปอีก
พ.อ.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ในเช้าวันอังคาร 26 เม.ย.นี้ ปฏิเสธไทยไม่เคยส่งเครื่องบินรบออกปฏิบัติการ ซึ่งผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ขณะนี้ย่อมจะทราบดี
ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรายงานผ่านสื่อ หรือสำนักข่าวใดๆ ว่า ไทยได้ใช้เครื่องบินรบโจมตีกัมพูชาในการปะทะรอบใหม่ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในวันศุกร์ มีแต่การกล่าวอ้างของกระทรวงต่างประเทศ กับกระทรวงกลาโหม ในกรุงพนมเปญ ซึ่งกล่าวหาอย่างไร้หลักฐานเช่นกัน ว่า ไทยได้ยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ 155 มม.กระสุนบรรจุแก๊สพิษ
และโฆษกกัมพูชายังคงกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่า ทหารไทยได้ใช้ “บิ๊กกัน” ที่สามารถบรรจุกระสุนได้หลากหลายชนิดยิงถล่มกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
“เวลา 13.55 น.ไทยได้ยิงปืนใหญ่ 155 มม.จำนวน 6 นัด ไปที่บริเวณบ้านโคกมอน ที่อยู่ลึกเข้าไป 22 กม.ในกัมพูชา ซึ่งเป็นเขตที่มีประชาชนอยู่อาศัย” คำแถลงฉบับล่าสุดกล่าวหา
โฆษกของไทย กล่าวว่า ตามหลักการทางทหาร เมื่อข้าศึกยิงออกมาจากจุดใด ฝ่ายไทยก็จะยิงโต้ตอบกลับไปที่จุดนั้น
ในการปะทะต้นเดือน ก.พ.2554 ฝ่ายกัมพูชาได้ร้องเรียนประชาคมโลก กล่าวหาว่า ไทยมีเจตนายิงอาวุธหนักหลายชนิดและขนาด เพื่อทำลายปราสาทพระวิหาร
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ออกประกาศเองว่า ปราสาทอายุ 1,000 ปี “พังทลายลงปีกหนึ่ง” และกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานเสียงเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปชายแดน และขอให้คณะกรรมการมรดกโลกส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูแลปราสาทเก่าแก่ที่ได้รับความเสียหายหนัก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายผ่านสำนักข่าวต่างประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่ตั้งทางทหาร และอาวุธในการยิงเข้าใส่ฝ่ายไทยซึ่งทำให้ถูกยิงตอบโต้
.
.
คำแถลงที่ออกในวันจันทร์ ยังระบุว่า กองทัพกัมพูชา “ได้ตอบโต้อย่างแข็งขันและอย่างกล้าหาญตามสิทธิในการป้องกันตนเองและอธิปไตยเหนือดินแดน” และ “กองทัพกัมพูชายังคงควบคุมปราสาทตาเมือนกับปราสาทตาควายเอาไว้ได้อย่างมั่นคงโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและแผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากระหว่างประเทศ”
โฆษกกลาโหมกัมพูชา อ้างถึงแผนที่ที่ไม่มีการระบุในรายละเอียด แต่เข้าใจว่า จะเป็น “แผนที่พนมดงรัก” มาตราส่วน 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นกว่า 100 ปีก่อน และขัดต่อสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี 1904 ที่กำหนดให้สันปันน้ำเป็นน้ำเป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติระหว่างกัมพูชาและไทย
เวลาต่อมากัมพูชาได้ใช้แผนที่ฉบับนี้อ้างต่อศาลระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร
อย่างไรก็ตาม ปราสาทตาควายอยู่ในดินแดนไทยและเป็นของไทยมาตลอดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ กัมพูชาไม่เคยได้ครอบครองปราสาทหลังนี้ เช่นเดียวกับปราสาทเก่าแก่อีกหลายหลังที่ตั้งอยู่หลังแนวสันปันน้ำ
ไทยได้ครอบครองเป็นเจ้าของปราสาทตาเมือนมาตลอดเช่นกัน อย่างน้อยปราสาทตาเมือนธม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 หลังในกลุ่มปราสาทตาเมือน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยมานานหลายสิบปี
ใต้ลงไปที่ชายแดนตอนเหนือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กัมพูชาเคยกล่าวอ้างเป็นเจ้าของปราสาทสด๊กก๊อกธม (Sdokkok Thom) ซึ่งเป็นของไทยมาชั่วกาลนานและเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วเช่นกัน
ยังมีปราสาทขนาดเล็กอีกหลายหลัง ที่สามารถเป็นชนวนแห่งการปะทะทางทหารได้ทุกเมื่อ ตราบเท่าที่กัมพูชายังคงยืนยันใช้แผนที่ 1:200,000 ที่ละเมิดสนธิสัญญาปักปันเขตแดน อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
.