xs
xsm
sm
md
lg

“เหวียนเติ๋นยวุ๋ง” บอก “ฮุนเซน” เวียดนามเป็นมิตรกับไทยเช่นกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเดือน ก.พ.2527 ฮุนเซน (กลาง) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา นำคณะไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ สามชาติอินโดจีน ในนครเวียงจันทน์ นั่นคือขวบปีที่ 5 ตั้งแต่เวียดนามตั้งกลุ่มเฮงสิมรัน-เจียซิม-ฮุนเซน ขึ้นสู่อำนาจในพนมเปญและให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนรัฐบาลใหม่ที่ยังอ่อนด้อยทุกทาง รวมทั้งคงทหารนับแสนคนไว้ช่วยต่อสู้กับเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท-เอียงสารี-เคียวสมพร และ พันตูทางการทูตกับกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ที่คัดค้านการรุกรานและยึดครองของเวียดนามตลอด 10 ปี.-- ภาพโดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร. </b>
.

โดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เวียดนามได้แสดงออกอีกครั้งหนึ่งถึงจุดยืนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดอย่างชัดเจน ในกรณีความขัดแย้งที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย โดยได้บอกกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาซึ่งหน้า ว่า เวียดนามเป็นมิตรกับไทยเช่นกัน และ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขกรณีพิพาทที่นำไปสู่การปะทะทางทหารไทยในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับอาเซียน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม บอกเรื่องนี้กับฮุนเซน ระหว่างการพบหารือข้อราชการในกรุงพนมเปญ วันเสาร์ 23 เม.ย.หลังจากผู้นำกัมพูชาได้แจ้งสถานการณ์การปะทะที่ชายแดนไทยให้รับทราบ อันเป็นประเด็นที่สำนักข่าวของทางการกัมพูชารายงานไม่ครบถ้วนหรือตั้งใจที่จะไม่รายงาน

และในการพบหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกร้อง

“นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ได้รายงานเหตุการณ์ปะทะที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย ในช่วงไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๋นยวุ๋ง ได้แสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ชายแดนกัมพูชา-ไทย ที่มีความสลับซับซ้อน" หนังสือพิมพ์กวานโดยเญินซเวิน (Quan Doi Nhan Dan) ของกองทัพประชาชนเวียดนาม รายงานโดยอ้างสำนักข่าววีเอ็นเอ ซึ่งเป็นของทางการ

นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายพบหารือกันในขณะที่การปะทะชายแดนดำเนินติดต่อกันเป็นวันที่สอง ซึ่งมีทหารกัมพูชาเสียชีวิตรวม 6 คน อีก 16 คน ได้รับบาดเจ็บ ราษฎรบริเวณชายแดนกว่า 17,000 คนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ

“.. ท่าน (เติ๋นยวุ๋ง) ได้ยืนยันว่า เวียดนามเป็นเพื่อนบ้านของทั้งกัมพูชาและไทย และยังเป็นสมาชิกหนึ่งของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามหวังว่า สองฝ่ายจะใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยกำลังอาวุธ และสืบต่อความพยายามแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจาอย่างสันติ บนพื้นฐานหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรแห่งสหประชาชาติและจิตใจแห่งมิตรภาพและสมานฉันท์แห่งอาเซียน เพื่อประโยชน์ของประชาชนสองประเทศ สันติภาพกับความร่วมมือในภูมิภาคและในโลก..”

“เวียดนามเรียกร้องไปยังกัมพูชาและไทย ร่วมกันยึดถือพันธสัญญาที่ให้ต่อที่ประชุมไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554” นายกรัฐมนตรีเวียดนามบอกกับฝ่ายกัมพูชา

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ชายแดนล่าสุดผ่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอยก่อนหน้านั้น แต่ก็มิได้มีข้อความใดๆ ที่บ่งว่า เวียดนาม สนับสนุนรัฐบาลฮุนเซนอย่างเป็นพิเศษ

ในวันที่ 18 เม.ย.ก่อนออกเดินทางไปยังกรุงพนมเปญเพียงไม่กี่วัน เวียดนามได้ทำความตกลงกับจีนอีกครั้งหนึ่ง ที่จะร่วมกันพัฒนาบริเวณเส้นเขตแดนทางบกให้เป็นชายแดนแห่งสันติภาพ

สองฝ่ายยังให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามคำประกาศเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นความตกลงภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนกับประเทศเอเชียและแปซิฟิก

สองฝ่ายได้ตกลงกันจะเซ็นเอกสารฉบับหนึ่งในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นหลักการและแนวทางในการ “แก้ไขข้อแตกต่างที่เกี่ยวกับทางทะเลและประเด็นต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นติดตามมา” ผ่านการเจรจาอย่างสันติ และบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมติของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลปี 2525 สื่อของทางการรายงาน
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
<bR><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเดือน ก.พ.2527 รองนายกรัฐมนตรี, รมว.ต่างประเทศเวียดนามเหวียนเกอแถ็ก (Nguyen Co Thach) เช็คสัญญาณเสียง ก่อนการประชุมรัฐมนตรี สามชาติอินโดจีน กับ นายพูน สีปะเสิด รองนายกฯ, รมว.ต่างประเทศลาวและฮุนเซนรองนายกฯ, รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ในนครเวียงจันทน์ เวียดนามได้อุปถัมภ์ค้ำจุนกลุ่มเฮงสัมริน-เจียซิม-ฮุนเซน ทุกๆ ทางในยุคสงครามเย็น รวมทั้งต่อสู้ทางการทูตกับอาเซียน 10 ประเทศที่มีไทยเป็นหัวหอกต่อต้านการรุกรานกับการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามตลอดเวลา 10 ปี วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป รัฐบาลฮุนเซนไม่ใช่ คนโปรด เพียงคนเดียวอีกต่อไป.--ภาพโดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร </b>
2
.
เวียดนามประกาศเรื่องดังกล่าวหลังการพบหารือข้อราชการในกรุงฮานอย ระหว่าง นายโห่ซวนเซิน (Ho Xuan Son) รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศหัวหน้าคณะเจรจา กับ นายจางจื่อจุ้น (Zhang Zhijun) รมช.ต่างประเทศจีน ที่ไปเยือน

ท่าทีของจีนต่อการปะทะระหว่างกัมพูชาและไทยครั้งล่าสุด ก็ไม่ต่างกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนหงเล่ย (Hong Lei) เป็นคนแรกที่ออกเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิง ใช้ความอดทนอดกลั้น และหันหน้าเจรจากันต่อไปเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ

โฆษกจีนออกมาเรียกร้องดังกล่าวในวันแรกของการปะทะ โดยไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของกลุ่มอาเซียนด้วยซ้ำ ในขณะที่ฝ่ายไทยกำลังเรียกร้องให้กัมพูชาได้กลับมาเจรจาแก้ปัญหาในกรอบทวิภาคีอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลฮุนเซนขัดขืนมาตลอดในช่วงหลายเดือนมานี้

การเยือนกัมพูชาของนายกฯ เวียดนาม ได้มุ่งไปใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ “การแก้ไขดัดแปลง” บันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งที่ว่าด้วยการปักปันเขตแดนระหว่างสองประเทศ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด และการประกาศผนึกกำลังกันต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีกั้นลำน้ำโขงในลาว

เวียดนาม และกัมพูชา เรียกร้องให้ลาวร่วมกับกัมพูชา เวียดนาม และไทย ในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อศึกษาโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำสายยาวจำนวน 10 หรือ 11 แห่ง อย่างรอบคอบ ก่อนลงมือสร้าง ซึ่งเวียดนามกล่าวว่าเขื่อนเหล่านั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามหลายล้านในเขตที่ราบปากแม่น้ำ

นอกจากนั้น ภาคเอกชนเวียดนามและกัมพูชา ที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ได้เซ็นความตกลงการลงทุนในโครงการลงทุน มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์

เวียดนามส่งกองทัพเข้าขับไล่ระบอบเขมรแดงซึ่งไม่เป็นมิตรและยึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 ม.ค.2522 และตั้งกลุ่มปกครอง เพ็ญสุวรรณ เฮงสัมริน เจียซิม รวมทั้งฮุนเซน ขึ้นเป็นรัฐบาลแทน กลุ่มนี้อยู่ในอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นหลังอิงสำคัญของเวียดนาม กัมพูชาและลาว ล่มสลาย คอมมิวนิสต์ฮานอยกับประเทศเหล่านี้ที่เคยรวมตัวกันเป็น “สามชาติอินโดจีน” ได้เร่งปรับความสัมพันธ์กับจีน และ เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนที่เคยเป็นก้างขวางคอ คัดค้านการรุกรานและยึดครองกัมพูชาของเวียดนามตลอดเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2522-2532

ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ได้ทยอยเข้าเป็นสมาชิกใหม่กลุ่มอาเซียน เช่นเดียวกันกับลาว และพม่า.
.
 <FONT color=#000033>นายกรัฐมนตรีเวียดนามกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาระหว่างพิธีเซ็นความตกลงหลายฉบับ ที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญวันเสาร์ 23 เม.ย.2554 สองฝ่ายแสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีเติบใหญ่ขยายตัว แต่กรณีปะทะที่ชายแดนไทยครั้งล่าสุด ผู้นำเวียดนามมิได้แสดงท่าทีใดๆ สนับสนุนฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นพิเศษ ทั้งยังระบุชัดเจนว่าเวียดนามเป็นมิตรกับไทยด้วยเช่นกัน ความสัมพันธํ์ทางการเมืองและการทูตได้เปลี่ยนไปจากยุคสงครามเย็นลิบลับ ซึ่งครั้งนั้นเวียดนามสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่มเฮงสัมริน-ฮุนเซน ทุกๆ เรื่อง และ กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับทหารเวียดนามนับแสนในกัมพูชา. --Xinhua/Phearum. </b>
3
กำลังโหลดความคิดเห็น