ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ได้แจ้งสถานการณ์ชายแดนที่เกิดการปะทะกับทหารไทย ให้นายกรัฐมนตรีเวียดนามที่กำลังเยือนได้รับทราบ แต่ผู้นำเวียดนามเพียงแค่ “ห่วงใย” ต่อสถานการณ์เท่านั้น ขณะที่สองฝ่ายได้แก้ไขบันทึกฯ ว่าด้วยการปักปันเขตแดนอีกครั้ง และประกาศท่าทีร่วมกันคัดค้านเขื่อนไซยะบูลีในลาว สำนักข่าวของทางการรายงานเรื่องนี้
ฮุนเซนได้แจ้งสถานการณ์ชายแดนไทย ให้นายเหวียนเติ๋นยวุ๋งได้รับทราบระหว่างพบหารือข้อราชการในกรุงพนมเปญวันเสาร์ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเร่งปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จในปีหน้า โดยมีการแก้ไขดัดแปลงเนื้อหาในบันทึกช่วยความจำก่อนหน้านี้ฉบับหนึ่ง และ หารือเกี่ยวกับการคัดค้านการก่อ สร้างเขื่อนไซยะบูลีในลาว ซึ่งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกัน สำนักข่าวเอเคพีรายงานเรื่องนี้ในวันอาทิตย์
"ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จเดโชฮุนเซน ได้แจ้งให้ฝ่ายเวียดนามได้ทราบเกี่ยวกับการรุกรานของไทยต่อกัมพูชาครั้งล่าสุดที่บริเวณปราสาทตากระเบย (ตาควาย) กับปราสาทตาเมือนและอีกบางบริเวณตามแนวชายแดนจังหวัดอุดรมีชัย”
“สำหรับฝ่าย (เวียดนาม) นั้น ฯพณฯ เหวียนเติ๋นยวุ๋ง ได้แสดงความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว” เอเคพีซึ่งเป็นสำนักข่าวของกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชารายงาน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรอีกเกี่ยวกับเรื่องนี้ และ ไม่มีรายงานว่าเวียดนามเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรต่อการดำเนินการของรัฐบาลฮุนเซน
ท่าทีของเวียดนามอาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับผู้ที่ติดตามความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้อย่างใกล้ชิดตลอดมา
ต่างไปจากการเยือนของนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของลาวเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งนายเขียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว ในฐานะโฆษกรัฐบาลแถลงด้วยตัวเองว่า นายกฯ ลาว “เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายอันถูกต้องและเป็นธรรมของกัมพูชา ต่อกรณีพิพาทชายแดนกับไทย
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงที่ออกอย่างเป็นทางการของฝ่ายลาวหลังการเยือนครั้งนั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงการหารือสถานการณ์ชายแดนกัมพูชา-ไทย ระหว่างนายทองสิงกับฮุนเซน แต่อย่างใด
การเยือนกัมพูชาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามมีความห่วงใยต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้่นแม่น้่ำโขงในลาวมากกว่าสถานการณ์ชายแดนกัมพูชา-ไทยเสียอีก และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ไทยเป็นอีกเสียงหนึ่งในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง 4 ชาติที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
เวียดนามได้ออกต่อต้านโครงการเขื่อนไซยะบูลีอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ต้นปี หลังการสำรวจศึกษาโครงการแล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนที่จะเริ่มก่อสร้าง
เขื่อนมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ กำลังปั่นไฟกว่า 1,200 เมกะวัตต์ เป็นของกลุ่ม ช.การช่าง จากประเทศไทย ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งจำห่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย ขณะที่เวียดนามกล่าวว่าเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามหลายสิบล้านคนในเขตที่ราบปากแม่น้ำซึ่งเป็นปลายทาง
“สองฝ่ายยังแสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีในลาว ผู้นำทั้งสองได้ตกลงที่จะเรียกร้องให้ลาวร่วมมือกับกัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งไทย ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เกี่ยวกับผลกระทบก่อนตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว” สำนักข่าวทางการกัมพูชารายงาน
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ในนครเวียงจันทน์วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา 4 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ และยังมีความเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่าวยิ่งเวียดนามเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้หยุดก่อสร้างเขื่อนกั้่นลำน้ำเป็นเวลา 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบต่อแม่น้ำทั้งสาย ที่ประชุมจึงตกลงให้รัฐมนตรีต่างประเทศพิจารณาอีกครั้งในการประชุมที่จะมีขึ้น
เวียดนามซึ่งยังมีปัญหาชายแดนกับจีนเช่นกัน ได้ทำความตกลงกับฝ่ายจีนอีกรอบหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว โดยสองฝ่ายจะร่วมกันปักปันเขตแดนทางบกให้แล้วเสร็จภายในปีหน้่าและจะแก้ไขกรณีพิพาทเหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธี
กลุ่มผู้นำกัมพูชาชุดปัจจุบันเป็นอดีตเขมรแดงกลุ่มหนึ่ง ที่แปรพักตร์เข้าร่วมกับเวียดนาม ประกอบด้วยเจียซิม เฮงสัมริน รวมทั้งฮุนเซน ซึ่งเวียดนามได้นำขึ้นสู่อำนาจในเดือน ม.ค. 2522 หลังขับไล่รัฐบาลเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท เอียงสารีกับเคียวสมพรออกจากกรุงพนมเปญ
ทหารเวียดนามนับแสนคนได้ยึดครองกัมพูชาต่อมาอีก 10 ปีเพื่อช่วยฟูมฟักและปกป้องระบอบใหม่ของพวกเขมรแดงกลุ่มใหม่ ที่อยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาเป็นปีที่ 26
นายยวุ๋งเดินทางถึงกรุงพนมเปญในวันเดียวกันสำหรับการเยือนเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งในวันอาทิตย์นี้ขณะเกิดการปะทะที่ชายแดนด้านเดียวกันติดต่อกันเป็นวันที่สอง ผู้นำเวียดนามยังได้พบหารือข้อราชการกับนายเจียซิม ประธานวุฒิสภา นายงวนแญล (Nguon Nhel) รักษาการประธานสภาผู้แทนราษฎร (แทนเฮงสัมริน) ได้พบหารืออดีตกษัตริย์สีหนุ และ เข้าเฝ้าฯ พระบรมนาถสีหมุนี กษัตริย์แห่งกัมพูชาอีกด้วย
ในวันอาทิตย์นี้ นายกฯ เวียดนามได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและกาท่องเที่ยวเวียดนาม-กัมพูชา ก่อนสิ้นสุดการเยือน ซึ่งภาคเอกชนของสองฝ่ายได้เซ็นนความตกลงใน 2 โครงการ
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ ในวันเสาร์เวียดนามและกัมพูชายังได้เซ็นเอกสารแก้ไขสัญญาร่วมทุนก่อตั้งสายการบินแคมโบเดียอังกอร์ โดยนายยวุ๋งกับฮุนเซนร่วมเป็นสักขีพยาน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาการร่วมทุนใหม่
สายการบินดังกล่าวเปิดให้บริการกลางปีที่แล้ว ซึ่่งเป็นตรั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่กัมพูชาได้มีสายการบินแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง
รัฐบาลกัมพูชาถือหุ้น 51% ในสายการบินแคมโบเดียอังกอร์ สายการบินแห่งชาติเวียดนามหรือเวียดนามแอร์ไลนส์ถือหุ้นอีก 49% แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ฝ่ายเวียดนามเป็นผู้จัดการทุกสิ่งทุกอย่างทั้งการบริการและบริการเกี่ยวกับการบิน