โดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ — วันพุธ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการจังหวัดดั๊กโนง (Đắk Nông) ได้จัดพิธีศพทหารอีก 68 คนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับฝ่ายเวียดนามใต้-สหรัฐฯ เมื่อกว่า 45 ปีก่อน ทั้งหมดสละชีพในการปะทะและการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ นับเป็นพิธีศพหมู่ชุดที่ 2 สำหรับทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิแห่งเดียวกันนี้ สื่อของทางการกล่าว
เมื่อปีที่แล้วทางการจังหวัดดั๊กโนง ได้ฝังศพทหาร 54 คน ที่สละชีพในยุทธภูมิแห่งเดียวกัน ทั้งหมดถูก “นำกลับสู่ผืนพิภพ” และทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติในสุสานวีรชนของจังหวัด ทั้งนี้ เป็นรายละเอียดในรายงานในเว็บไซต์ของจังหวัด
เมื่อปีที่แล้ว ทางการจังหวัดดั๊กโนงได้ฝังศพทหาร 54 คน ที่สละชีพในยุทธภูมิแห่งเดียวกัน ทั้งหมดถูก “นำกลับสู่ผืนพิภพ” และทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติในสุสานวีรชนของจังหวัด ทั้งนี้เป็นรายละเอียดในรายงานบนเว็บไซต์แห่งเดียวกัน
ไม่มีการเปิดเผยว่ามีทหารเวียดนามเหนือเสียชีวิตไปกี่นายในสมรภูมิแห่งเดียวกันนี้ แต่ “การขุดค้นหาซากและอัฐิทหารที่เหลืออยู่ยังดำเนินต่อไป” หนังสือพิมพ์กวานโดยเญินซเวิน (Quân đội Nhân dân) หรือ กองทัพประชาชน รายงานในขณะเดียวกัน
อัฐิทหารทั้ง 68 รายการขุดขึ้นจากที่ตั้งบริเวณภูปรัง (Bu Prăng) รวมทั้งจากบังเกอร์จำนวน 6 แห่ง ในนิคมกว๋างจึก (Quảng Trực) อ.ตวีดึ๊ก (Tuy Đức) จ.ดักโนง ด้วยความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการทหารจังหวัด คณะกรรมการประชาชนจังหวัด กระทรวงแรงงาน สวัสดิการสังคมและทหารผ่านศึก กับแนวร่วมปิตุภูมิเวียดนาม เว็บไซต์รายงานในวันเดียวกัน
ทั้ง 68 ศพ มีทั้งนายทหาร พลทหาร และฝ่ายสนับสนุนต่างๆ สละชีพในการสู้รบเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง ในคืนวันที่ 28 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 29 ธ.ค.2505 หนังสือพิมพ์รายวันของกองทัพประชาชนเวียดนาม กล่าว
บูปรังซึ่งตั้งอยู่ในรอยต่อชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา เป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดอีกแห่งหนึ่งระหว่างกองกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือที่เคลื่อนลงสู่ภาคใต้ตามแนวตะเข็บชายแดนลาว-เวียดนามและกัมพูชา-เวียดนาม ที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ “เส้นทางโฮจิมินห์” หรือที่ฝ่ายเหนือเรียกว่า “เส้นทางเจื่องเซิน” (Trường Sơn)
นั่นคือ ช่วงปีที่ฝ่ายเวียดนามเหนือลำเลียงกำลังพลและยุทธปัจจัยต่างๆ ลงสู่ภาคใต้ ก่อนนำไปสู่ “การรุกรบครั้งใหญ่เทศกาลตรุษ” (Tet Offensives) อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สงครามในเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ฝ่ายเวียดนามเหนือได้ใช้สรรพกำลังและสรรพวิธี ใช้รถบรรทุก ใช้คนแบกหามและใช้ยานพาหนะทุกรูปทุกแบบในการ “รุกลงใต้” และใช้เวลานานกว่า 3 ปี ก่อนเปิดฉากรุกรบครั้งใหญ่พร้อมกันในทุกตัวเมืองและนครตั้งแต่ภาคกลางตอนบนลงไปจนถึงไซ่ง่อนและในเขตที่ทราบปากแม่น้ำโขง และ การโจมตีที่ตั้งของสหรัฐฯ หลายแห่ง โดยใช้กำลังพลไม่น้อยกว่า 70,000
การรุกรบใหญ่เทศกาลตรุษในเดือน ม.ค.2508 ทำให้ฝ่ายเวียดนามเหนือสูญเสียกำลังพลนับหมื่น แต่เหตุการณ์นี้ได้ทำให้รัฐบาลไซ่ง่อนและแม้แต่กองทัพสหรัฐฯ เสียขวัญและกำลังใจ เกิดการต่อต้านสงครามเวียดนามขึ้นในสหรัฐฯ และในทั่วโลก กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “สงครามมรุกราน” โดยสหรัฐฯ
แต่ก่อนจะถึงเหตุการณ์นั้น ทหารเวียดนามเหนือหลายพันคนได้เสียชีวิตอีกนับหมื่น ในการสู้รบกับ “ฝ่ายสัมพันธมิตร” ซึ่งหมายรัฐบาลเวียดนามใต้ที่สหรัฐฯ หนุนหลัง ทหารสหรัฐฯ กับกองกำลังของหลายประเทศภายใต้องค์สนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) หรือ “สปอ.” ที่ชาวไทยในยุคหนึ่งรู้จักดี
สื่อของทางการเคยรายงานเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับอีกเหตุการณ์หนึ่งใน จ.กว๋างจิ (Quảng Trị) ใต้เขตปลอดทหาร ซึ่งมีทหารเวียดนามเหนือเสียชีวิตทั้งกองพัน จากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ
ส่วนดั๊กโนงซึ่งอยู่ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญ และบูปรังเป็นจุดแยกใหญ่อีกจุดหนึ่งบนเส้นทางโฮจิมินห์เพื่อตัดเป็นแนวตรงลงไปสู่จังหวัดทางตอนเหนือกรุงไซ่ง่อน เพื่อปิดล้อมฐานทัพใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ รวมทั้งที่เบียนหว่า (Biên Hòa) ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองเอกของ จ.โด่งนาย ( Đồng Nai) ปัจจุบัน
การสู้รบแตกหักใน จ.ดั๊กโนง จึงไม่อาจเลี่ยงได้
.
.
ในช่วงปีที่ฝ่ายเหนือบุกลงใต้ ทางการไซ่ง่อนได้พยามยามอย่างหนักทั้งในด้านการรบและปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของข้าศึก มีการโปรยใบปลิวนับแสนๆ ใบลงในเขตป่าเขารอยต่อชายแดน ทั้งข่มขู่และชักชวนให้ทหารเวียดมินห์วางอาวุธ ยอมจำนวนหรือเดินทางกลับบ้านเกิดในภาคเหนือ
“เกิดในภาคเหนือ มาตายในภาคใต้” เป็นข้อความในใบปลิวชุดหนึ่ง ที่ค้นพบในศพทหารเวียดมินห์ ในช่วงปีดังกล่าว ซึ่งอีกด้านหนึ่งมีข้อความซึ่งระบุว่าทหารเวียดนามเหนือเสียชีวิตกว่า 2,000 คนในการสู้รบเพียงเหตุการณ์เดียว ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง และการหวังยึดครองภาคใต้ จะนำไปสู่ความล้มเหลว
แต่สหรัฐฯ กับรัฐบาลเวียดนามใต้ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรบใหญ่วันตรุษ ในอีก 3 ปีต่อมาได้
ยังไม่เคยมีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนทหารเวียดนามเหนือที่เสียชีวิตในยุทธการบุกลงใต้ตามถนนเจืองเซิน ซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนถึงช่วงปีสุดท้ายแห่งสงคราม แต่นักประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่า มีทหารเวียดนามเหนือกับกองกำลังเวียดกงเสียชีวิตเกือบ 1,400,000 คน ในสงครามที่ดำเนินไปเป็นเวลากว่า 20 ปี และทหารอเมริกันเสียชีวิต 58,000 คน อีก 304,000 คนได้รับบาดเจ็บ
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนาม “สงครามสหรัฐฯ” หรือ “เจี๋ยนแจงจ๋งหมี” (chiến tranh chống Mỹ) ทำให้ชาวเวียดนามเสียชีวิตไปกว่า 3 ล้านคน ทั้งทหารและพลเรือน
ขณะเดียวกัน การรุกลงใต้ได้ทำให้ดินแดนลาวกลายเป็นสมรภูมิรบอันดุเดือดไปด้วย
ในช่วงปี 2512-1513 กองทัพสหรัฐฯ ได้ระดมกำลังฝ่ายเวียดนามใต้กับทหารลาวฝ่ายราชอาณาจักรลาว ในเขตเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขตของลาว และเปิดการสู้รบที่เรียกว่า “ยุทธการลามเซิน 719” ขึ้นในเดือน ก.พ.-มี.ค.2514 หวังจะบดขยี้กองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือที่แทรกซึมอยู่ในดินแดนลาวและพิสูจน์ว่าเวียดนามใต้เข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเอง
ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศสนับสนุนอย่างหนัก และใช้ “อาสาสมัคร” จากประเทศไทย นับจำนวนเป็นระดับกองพล แต่สถานการณ์กลับออกมาตรงกันข้าม
ยุทธการลามเซิน 719 กลายเป็นการทำลายกองกำลังที่สุดของฝ่ายไซ่ง่อนและของราชอาณาจักรลาว ทำให้ขวัญกำลังใจตกต่ำอย่างสุดขีด แต่ฝ่ายเวียดมินห์ที่มีคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวสนับสนุน ก็สูญเสียไม่น้อยเช่นกัน
และยังไม่เคยมีรายงานอย่างเป็นทางการให้สาธารณชนได้ทราบว่า มี “ทหารอาสาสมัคร” จากไทย เสียชีวิตไปจำนวนเท่าไรในยุทธการลามเซิน 719
แต่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ของลาวและเวียดนามได้ประชุมร่วมกันในแขวงเชียงขวางเมื่อปีที่แล้ว และกล่าวถึงยุทธการลามเซินว่าเป็น 1 ใน 3 เหตุการณ์การสู้รบครั้งใหญ่ที่สุดในสงครามปลดปล่อยประเทศ เช่นเดียวกับการสู้รบในเขตทุ่งไหหิน และ ในแขวงหัวพัน
ในปัจจุบันเวียดนามและลาวก็ยังร่วมกันค้นหาศพทหารเวียดนามเหนือที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบสะหวันนะเขตต่อไป