ASTVผู้จัดการออนไลน์-- ในระหว่างปี 2544-2554 มีการส่งอัฐิทหารและ "ผู้เชี่ยวชาญ" ชาวเวียดนามจากกัมพูชากว่า 5,100 ชุด จากจำนวนที่ยังไม่ได้กลับจากกัมพูชาราว 8,500 คน ใน 10 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศนี้ อันเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน
มีการเปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างการประชุมสรุปผลงาน 10 ปี การปฏิบัติการค้นหา ที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญวันเสาร์ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าววีเอ็นเอ (VNA) ของทางการเวียดนามกล่าว
กองบัญชาการทหารภาค 9 ของกัมพูชาที่รับผิดชอบเรื่องนี้ กำลังค้นหาทหารและผู้เชี่ยวชาญเวียดนามที่ "ยังสูญหาย" ภายใต้ความตกลงความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ลงนามกันในวันที่ 28 ส.ค.2543 และ ในปีนี้ 2554 นี้ จะเน้นเป็นพิเศษการค้นหาในพื้นที่ จ.กันดาล กัมปงชะนัง และกัมปงจาม ก่อนกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในช่วงปี 2555-2557 วีเอ็นเอกล่าว
เวียดนามส่งทหารระหว่าง 100,000-200,000 คนข้ามพรมแดนเข้าขับไล่รัฐบาลเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ต เอียงสารีและเคียวสมพร ยึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 ม.ค.2522 แต่ต้องต่อสู้กับกองโจรเขมรแดงต่อมาอีก 10 ปี เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองระบอบใหม่ที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในปกครองกัมพูชา
ทั้งหมดเป็นเขมรแดงอีกกลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเวียดนาม และกลุ่มตรงข้ามกลุ่มโปลโป้ต เอียงสารีและเคียวสมพร กลุ่มนี้ครองอำนาจมาจนทุกวันนี้
พล.ต.เลข่าเฟียว (Le Kha Phieu) ผู้ชี้นำทางการเมือง กองบัญชาการทหารเวียดนามในกัมพูชา เปิดเผยระหว่างการถอนทหารชุดสุดท้ายออกจากกัมพูชาในเดือน ก.ย.2532 ว่า ทหารเวียดนามกว่า 50,000 คนเสียชีวิตในช่วง 10 ปีแห่งการยึดครอง ในนั้นราว 30,000 คน ตายเพราะโรคระบาดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมาลาเรีย
อีกหลายปีต่อมา "พล.ท.เลข่าวเฟียว" ได้กลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และได้รับเลือกขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยตัวเลขว่า มีทหารเวียดนามทั้งหมดกี่คนที่ยังไม่ได้กลับจากสงครามในกัมพูชา
หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์รายงานในเดือน ก.พ.2553 ว่า นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมากองบัญชาการภาค 9 ค้นพบทหารเวียดนามทั้งหมด 1,423 คน ในเดือนเดียวกันกัมพูชามอบอัฐิทหารเวียดนามให้กับทางการ จ.เกียนซยาง (Kien Giang) อีก 68 ชุด ทั้งหมดพบใน จ.กัมโป้ต และ จ.แก๊บ ในภาคใต้
ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ปี 2553 ปีเดียวมีการค้นพบทหารเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
ในเดือน พ.ค.2553 กัมพูชาส่งมอบอัฐิทหารเวียดนามอีก 149 ชุด ที่พบใน จ.รัตนคีรี สตึงแตร็ง และ จ.พระวิหาร ทหารเหล่านั้นได้สละชีพในการต่อสู้ "เพื่อเอกราชและช่วยให้ชาวกัมพูชารอดพ้นจากระบอบล้างชาติ" อันหมายถึงการขับไล่เขมรแดงกลุ่มโปลโป้ตฯ ที่เวียดนามใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานกัมพูชามาตลอด
อัฐิทหารชุดนี้ถูกนำไปทำพิธีทางศาสนาและฝังไว้ในสุสานแห่งหนึ่ง ใน จ.ซยาลาย (Gia Lai) ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง เวียดนามนิวส์กล่าว
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงานอีกครั้งหนึ่งในเดือนเดียวกันว่า หลังปฏิบัติการ 6 เดือน ทีมค้นหาอีกทีมหนึ่งจาก จ.กงตูม (Kon Tum) ค้นพบทหารเวียดนามอีก 29 คนที่เสียชีวิตใน แขวงเซกอง อัตตะปือ และ จำปาสัก ในลาว กับ จ.รัตนคีรีในกัมพูชา อัฐิถูกนำไปทำพิธีฝังในสุสานวีรชนของจังหวัด
นอกจากในกัมพูชาแล้ว เวียดนามยังคงค้นหาทหารที่เสียชีวิตในดินแดนลาวไปพร้อมๆ กัน
ตัวเลขที่ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” รวบรวมจากรายงานของสื่อของทางการลาวและเวียดนาม จนถึงปีที่แล้ว มีการส่งอัฐิกลับเวียดนามกว่า 10,000 ชุด ในนั้นเกือบ 6,000 ชุด พบในแขวงสะหวันนะเขต อีกกว่า 4,000 ชุด พบในแขวงเวียงจันทน์กับแขวงเซียงขวาง
การค้นหาทหารเวียดนามที่ยังไม่กลับจากสงครามในดินแดนลาว ยังคงดำเนินต่อไป.