ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบางส่วน-แก้คำอ่านและสะกดชื่อบุคคล
โดย วุฒิพงษ์ หลักคำ-บุญญะสาร
ASTVผู้จัดการออนไลน์-- พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้สร้างโจทย์ใหม่ให้ผู้คนได้ขบคิด เป็นครั้งแรกที่เลขาธิการใหญ่คือ นายเหวียนฝูจ็อง ซึ่งเป็นผูู้นำสูงสุดของพรรค กลับไม่ใช่ผู้นำหมายเลข 1 ในคณะกรรมการกรมการเมือง องค์การที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของชาวคอมมิวนิสต์กว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ และ ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
เว็บไซต์พรรคคอมมิวนิสต์ได้ตีพิมพ์รายชื่อกรมการเมืองชุดใหม่ในวันพุธ 19 ม.ค.นี้ โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร แต่ความไม่ปรกติจะเห็นได้จากรายชื่อที่เรียงตามลำดับอาวุโส ซึ่งตีพิมพ์ในวันเดียวกัน ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เญินซเวิน (Nhan Dan) กระบอกเสียงของคณะกรรมการกลางพรรค
สิ่งนี้ไม่น่าจะเป็นความผิดพลาดใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์ "ประชาชน" ฉบับนี้ เป็นหนึ่งในกรมการเมืองชุดใหม่ด้วย
ตามรายชื่อที่เรียงตามลำดับอาวุโส นายจ็องผู้นำสูงสุดของพรรคอยู่ในอันดับที่ 8 ขณะที่เบอร์ 1 เป็นนายเจืองเติ๋นซาง ซึ่งกลายเป็นปริศนาสำคัญ และทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เลขาธิการใหญ่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดต่อไปแล้วหรือ?
ตามวิถีปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์ หมายเลข 1 ในกรมการเมือง สงวนเอาไว้ให้แก่เลขาธิการใหญ่พรรคตลอดมา ขณะที่เบอร์ 2 เป็นของประมุขแห่งรัฐหรือประธานาธิบดี และ เบอร์ 3 หรือ 4 หรือต่ำกว่านั้น เป็นของผู้นำรัฐบาล จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 81 ปีของพรรคที่เลขาธิการใหญ่ไม่ใช่ผู้นำเบอร์ 1
ยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซเวินจี๊ (Dan Tri) รายงานว่า ธรรมนูญพรรคที่คณะกรมการกลางชุดใหม่ลงมติผ่านในการประชุมวันแรก มีการเปลี่ยนแปลงในสาระหลายอย่าง รวมทั้งให้เลขาธิการใหญ่พรรค เป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรค และ มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสาขากองทัพ กับกระทรวงกลาโหมอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งใหม่
ปริศนาในพรรคคอมมิวนิสต์ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อผู้นำหมายเลข 2 ในกรมการเมืองชุดใหม่เป็น พล.อ.ฝุ่งกวางแทง รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งกลายเป็นผู้มีอาวุโสเหนือ นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง นายกรัฐมนตรีอยู่ 1 ขั้น
เชื่อกันว่านายยวุ๋งจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 5 ปี เมื่อรัฐสภาชุดใหม่เปิดสมัยประชุม หลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.ศกนี้
ในกรมการเมืองชุดที่ 10 ที่เพิ่งจะพ้นไป นายยวุ๋งอยู่ในอันดับ 3 เช่นกัน เป็นอันดับรองจากเลขาธิการใหญ่พรรคกับประธานาธิบดีเท่านั้น
ในเช้าวันอังคาร 18 ม.ค. ที่ประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 11 ได้เลือกคณะกรรมการกลางชุดใหม่ และ กรรมการกลางชุดใหม่ได้ประชุมในบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งมีการเลือกคณะกรรมการกรมการเมืองกับคณะเลขาธิการพรรค มีการเผยแพร่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเช้าวันพุธ
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
..
คณะกรรมการกลางชุดที่ 11 ได้เลือกกรมการเมืองชุดใหม่เพียง 14 คน น้อยกว่าสมัยที่แล้ว 1 คน และ น้อยกว่าจำนวน 17 คน ที่เคยระบุในการแถลงข่าวก่อนหน้านี้ ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงมีการลดจำนวนกรมการเมืองลง ในขณะที่ขยายจำนวนกรรมการกลางออกเป็น 200 คน จาก 175 คนเมื่อสมัยที่แล้ว
"เรากำลังเปลี่ยนแปลงการนำของพรรค เปลี่ยนแปลงระบบการเมือง ..การปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าร่วมกับสากลเป็นสิ่งสำคัญ.. และการฟันฝ่าใน 5 ปีข้างหน้า เราได้วางพื้นฐานเอาไว้จนถึงปี 2563 ประเทศของเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยพื้นฐาน โดยจะต้องก้าวผ่านให้ได้ใน 3 ด้านคือ โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน"
ผู้นำพรรคคนใหม่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ระหว่างการแถลงในบ่ายวันพุธ หลังปิดการประชุมสมัชชาครั้งที่11 หนังสือพิมพ์เญินซเวิน อ้างคำกล่าวย่อหน้านี้ ในเว็บไซต์ภาคภาษาเวียดนาม โดยไม่ได้อธิบายอะไรอีก
ยังมีกรมการเมืองจากสมัยที่ 10 ได้รับเลือกเข้าพรรคอีก 5 คน รวมเป็น 9 คือ นายเหวียนซีงหุ่ง รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 พล.อ.เลห่งม์แอง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ นายเลแทงหาย เลขาธิการพรรคนครโฮจิมินห์ นายโตฮวีหรัว ประธานคณะกรรมการโฆษณาอบรมพรรค และ นายฟัมกวางหงิ เลขาธิการพรรคกรุงฮานอย เป็นอับดับที่ 5-7 และ 9
นายซาง "ผู้นำหมายเลข 1" เป็นผู้อ่านผลการเลือกตั้งกรมการเมืองครั้งนี้ ซเวินจี๊รายงานในเว็บไซต์ภาษาเวียดนามยอดนิยม
การวางตัวนายหุ่ง รองนายกรัฐมนตรีอาวุโสไว้อันดับ 4 ในกรมการเมือง อาจจะหมายถึงตำแหน่งประธานรัฐสภาชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งสมัยหน้า ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งฝ่ายบริหารเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นายหุ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตจากรัฐสภาน้อยที่สุดก็ตาม
นายกรัฐมนตรีถูกมองว่าเป็นผู้นำกลุ่มปีกการเมืองหนึ่งในพรรคคอมมิวนิสต์ และถูกท้าทายมาหลายครั้งในรัฐสภา รวมทั้งการโหวตคว่ำโครงการรถไฟฟ้าหัวกระสุน 56,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐบาล การกดดันให้นายกฯ ต้องประกาศรับผิดชอบต่อรัฐวิสาหกิจต่อเรือ ที่เป็นหนี้สินล้นพ้นอยู่ในสภาพล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว
การวางตัวผู้นำฝ่ายความมั่นคงสำคัญคือ รมว.กลาโหมในอันดับสูงกว่านายกฯ อาจจะเป็นข้อบ่งชี้สำคัญถึงความห่วงใยในการนำเอาระบอบทุนนิยมไปใช้ในการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง ในขณะที่เชื่อกันว่า นายยวุ๋งจะเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญในประเทศ นำหน้าเลขาธิการใหญ่หรือผู้นำองค์กรใดๆ ของพรรคและรัฐทั้งหมด
ความห่วงใยในด้านความมั่นคงยังสะท้อนให้เห็นจากการเพิ่มผู้แทนของฝ่ายนี้เข้าในกรมการเมืองอีก 1 คน นอกเหนือจาก รมว.กลาโหม กับ รมว.ความมั่นคง ซึ่งเป็นนายพลเอกเพียง 2 คนในประเทศ
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
..
อันดับ 10-14 ในกรมการเมืองคือ พล.ท.อาวุโสเจิ่นดายกวาง รมช.ความมั่นคงสาธารณะคนที่ 1 นางต่องถิฝอง รองประธานรัฐสภาคนที่ 1 นายโงวันยวึ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางพรรค นายดี่งเถฮวีง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เญินซเวิน และ นายเหวียนซวนฟุก รัฐมนตรี เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี
วันเดียวกันยังมีการเลือกตั้งคณะเลขาธิการกลางพรรคอีก 4 คนจากกรรมการกลางพรรค เพื่อเข้าร่วมกรมการเมือง ทำหน้าที่บริหารงานประจำวันของพรรค และ เลือกคณะกรรมการตรวจตราชุดใหญ่อีกจำนวน 21 คน โดยนายยวึ กรมการเมืองอันดับ 12 เป็นประธาน
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามใช้การนำแบบรวมหมู่ และใช้ฉันทามติในการตัดสินปัญหา จนกลายเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง ถ้ากรณีใดไม่สามารถใช้ฉันทามติได้ เลขาธิการใหญ่ซึ่งเป็น "เบอร์ 1" จะเป็นผู้ก้าวออกมาเพื่อชี้ขาดให้เกิดเสียงข้างมาก แต่เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย
เมื่อมองจากภาพรวมจะเห็นการจัดวางตัวบุคคลเพื่อถ่วงดุลอำนาจกันอย่างลงตัวในกรมการเมืองชุดใหม่ และ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังจะมีอำนาจอย่างมากมายในการกุมบังเหียนประเทศ ก็มีฝ่ายความมั่นคงชุดใหญ่คอยสอดส่อง และ ยังมีคณะกรรมการตรวจตราชุดใหญ่ของคณะกรรมการรกลางพรรคตรวจสอบ
นอกจากนั้น ตามรัฐธรรมนูญของประเทศ ประมุขแห่งรัฐเวียดนามไม่ได้เป็นแค่ตำแหน่งสำหรับพิธีการต่างๆ เท่านั้่น ประธานาธิบดียังมีอำนาจการเสนอแต่งตั้งหรือถอดถอน รวมทั้งการใช้สิทธิยับยั้งข้อมติใดๆ ของฝ่ายบริหารอีกด้วย
ลำดับในกรมการเมืองบ่งบอกว่า นายซางที่เชื่อกันว่าเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของนายยวุ๋ง กำลังจะเข้าไปทำหน้าที่นี้
สำหรับนายจ็องผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นนักทฤษฎีของพรรค เรียนสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านการก่อสร้างพรรค จากสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (Institute of Social Science) สหภาพโซเวียตในอดีต ซึ่งเป็นสถาบันที่ปลูกฝังลัทธิมาร์กซ์กับทฤษฎีของเฟดริกค์ แอนเจล สองศาสดาของชาวคอมมิวนิสต์
นายจ็องทำงานด้านอุดมการณ์กับแนวคิดทฤษฎีของพรรคเป็นเวลาหลายปี เป็นกรรมการกลางพรรคตั้งแต่สมัยที่ 7 (2537) เข้ากรมการเมืองครั้งแรกในสมัยที่ 8 (2540) ในการประชุมครึ่งสมัย เป็นเลขาธิการพรรคกรุงฮานอยในช่วงปี 2543-2549 และ เป็นประธานรัฐสภาในปี 2550
การเปลี่ยนการนำในพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อนโยบายโดยรวม รายงานการเมืองกับรายงานเศรษฐกิจที่สมัชชาครั้งที่ 11 ลงมติผ่านได้ระบุถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ การก้าวต่อไปเพื่อทำให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยพื้นฐานในปี 2563
พรรคคอมมิวนิสต์ได้วิจารณ์ความผิดพลาดกับความอ่อนด้อยต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และประกาศแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมด รวมทั้งการทำให้เศรษฐกิจพัฒนาและเติบโตต่อไปอย่างมีเสถียรภาพด้วย.
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
..
กรมการเมืองลำดับอาวุโส:
1. นายเจืองเติ๋นซาง (Trương Tấn Sang)
2. พล.อ.ฝุ่งกวางแทง (Phùng Quang Thanh)
3. นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyễn Tấn Dũng)
4. นายเหวียนซีงหุ่ง (Nguyễn Sinh Hùng)
5. พล.อ.เลห่งม์แอง (Lê Hồng Anh)
6. นายเลแทงหาย (Lê Thanh Hải)
7. นายโตฮวีหรัว (Tô Huy Rứa)
8. นายเหวียนฝูจ็อง (Nguyễn Phú Trọng)
9. นายฟัมกวางหงิ (Phạm Quang Nghị)
(สมาชิกใหม่..)
10. พล.ท.อาวุโสเจิ่นดายกวาง (Trần Đại Quang)
11. นางต่องถิฝอง (Tòng Thị Phóng)
12. นายโงวันยวึ (Ngô Văn Dụ)
13. นายดี่งเถฮวีง (Đinh Thế Huynh)
14. นายเหวียนซวนฟุก (Nguyễn Xuân Phúc)
คณะเลขาธิการกลางพรรค:
1. พล.ท.โงซวนหลิก (Ngô Xuân Lịch)
2. นายเจืองหว่าบี่ง (Trương Hòa Bình)
3. นางห่าถิเคี๊ยต (Hà Thị Khiết)
4. นางเหวียถิกิมเงิน (Nguyễn Thị Kim Ngân)
ประธานคณะกรรมการตรวจตราพรรค:
นายโงวันยวึ (Ngô Văn Dụ)
..