xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้นำชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: เดอะ ฮานอยอิสต์

((เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Lines of division in Vietnam
By The Hanoist
20/01/2011

ผลการเลือกตั้งผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งก็คือการจัดขบวนแถวกันใหม่ของเหล่าผู้ทรงอำนาจทางการเมืองในประเทศนี้ ดูจะเป็นสิ่งบ่งชี้ให้ทราบว่า ความเป็นปรปักษ์ที่ค้างคามาช้านาน ตลอดจนความขัดแย้งกันเองในเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากนั้น จะยังดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันการที่บุตรชายของนายกรัฐมนตรีและทายาทระดับลูกท่านหลานเธอในพรรคอีกบางคนได้ขึ้นไปอยู่ในคณะกรรมการกลางของพรรค ก็น่าจะเป็นร่องรอยบอกให้รู้ว่า ระบบการสืบสายโลหิตกำลังก่อตัวขึ้นมาแล้ว

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (พคว.) เลือกที่จะเดินไปตามเส้นทางดั้งเดิมของตน ด้วยการคัดสรรเอานักทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสต์ขึ้นมาเป็นเลขาธิการใหญ่คนใหม่ ทั้งนี้ เหวียนฝูจ็อง (Nguyen Phu Trong) ผู้อยู่ในวัย 67 ปี ในอดีตเคยเป็นบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร “คอมมิวนิสต์ รีวิว” (Communist Review) และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานของรัฐสภาเวียดนามที่ควบคุมโดยคอมมิวนิสต์ คือตัวเลือกแบบประนีประนอมรอมชอมของที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศสมัยที่ 11 ของ พคว.ซึ่งเพิ่งประชุมเสร็จสิ้นลง

ตามคำบอกเล่าของพวกผู้สังเกตการณ์ท้องถิ่น บุคคลทรงอำนาจที่สุด 2 คนที่เข้าสู่การประชุมสมัชชา พคว.ซึ่งวาระส่วนใหญ่เป็นการประชุมลับคราวนี้ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) และ เลขาธิการประจำ (standing secretary) ของ พคว. เจืองเติ๋นซาง (Truong Tan Sang) ในฐานะของนายกรัฐมนตรี ยวุ๋งเป็นผู้ที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ระดับชั้นต่างๆ ของรัฐบาลมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี จากนโยบายของเขาที่นิยมส่งเสริมพวกรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ๆ โดยที่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้ถูกโอนกลับมาอยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วย สภาพการณ์เช่นนี้จึงทำให้เขามีอำนาจชนิดไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน ในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศ
ทว่าเขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเช่นกัน จากการเข้าไปหนุนหลังแผนการทำเหมืองบ็อกไซต์ขนาดมหึมาในเขตที่ราบสูงภาคกลาง และการบริหารจัดการอย่างผิดพลาดในกรณีของ “วินาชิน” (Vinashin) บริษัทสายการเดินเรือที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งก่อหนี้สินขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาลถึงระดับเท่ากับ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่เลขาธิการซาง เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบกิจการของ พคว.ในแบบวันต่อวัน โดยที่บทบาทของเขาคล้ายคลึงเทียบได้กับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (chief operating officer) ของพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกตะวันตก ซางเป็นผู้ประสานงานในกิจการทางด้านบุคลากร, ความคิดอุดมการณ์, และการปฏิบัติหน้าที่สำคัญๆ อื่นๆ ของ พคว. นักเฝ้าจับตามองเวียดนามบางคนเชื่อว่า ซางคือผู้ที่แอบค้ำชูเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านนายกฯยวุ๋งซึ่งปรากฏต่อสาธารณชน

บุรุษทั้งสองต่างอยู่ในวัย 60 ต้นๆ และเป็นคู่แข่งขันกันมาตั้งแต่ที่พวกเขาได้รับเลือกเลื่อนขึ้นไปอยู่ในคณะกรรมการกรมการเมือง (politburo) ของ พคว.ในปี 1996 ในเอกสารรายงานลับทางการทูตของสหรัฐฯซึ่งรั่วไหลไปถึงเว็บไซต์วิกิลีกส์ (WikiLeaks) มีชิ้นที่พูดถึงคนทั้งสองเอาไว้ว่า “ยวุ๋งและซางได้รวบรวมอิทธิพลในกลไกแห่งพรรค-รัฐของเวียดนามมาไว้ในมืออย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเขาควรที่จะถือได้ว่าเป็น 2 บุคคลทางการเมืองที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศทุกวันนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่าถึงแม้เป็นคู่แข่งขันกัน แต่ทั้ง ยวุ๋ง และ ซาง ก็ดูจะเหมือนกันเกินไปจนทำให้เกิดความไม่สบายใจ นั่นคือ ทั้งคู่ต่างก็เป็นคน (เวียดนามภาค) ใต้”

การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันของพวกเขาก่อให้เกิดการเดินหมากชิงมุกกันอย่างเข้มข้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่วันก่อนจะถึงการประชุมสมัชชา พวกพันธมิตรของยวุ๋งในสื่อมวลชนภาครัฐ พยายามเหลือเกินที่จะขัดถูกชักเงาภาพลักษณ์ของเขา ด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวรายงานข่าวต่างๆ ที่มีการอ้างอิงถึงตัวเขาว่าเป็น “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย” ทั้งนี้โดยอ้างว่าเป็นคำกล่าวที่มาจาก “สื่อมวลชนเยอรมัน” พวกบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามได้ติดตามสืบค้นข้ออ้างเหล่านี้ และพบว่าแหล่งข่าวที่มีอยู่เพียงแหล่งเดียวของเรื่องราวรายงานข่าวต่างๆ พวกนี้ คือ www.firmenpresse.de ซึ่งเป็นเว็บไซต์เยอรมันที่แทบไม่มีใครรู้จัก โดยที่เจ้าของ-ผู้ดำเนินการเว็บไซต์แห่งนี้ก็ดูจะเป็นผู้ที่กำลังพยายามหาช่องติดต่อทำธุรกิจในเวียดนาม รวมทั้งโฆษณาป่าวร้องตัวเองว่าเป็น “เว็บพอร์ทัลเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ให้บริการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์”

อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่นอนว่า จ็อง เลขาธิการใหญ่คนใหม่ของ พคว. ก็มีฐานสนับสนุนอยู่จริงๆ เช่นกัน ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานรัฐสภาเวียดนาม เขาเคยเป็นเลขาธิการพรรคสาขากรุงฮานอย และเป็นผู้ที่มุ่งมั่นนำเอาแนวความคิดแบบมาร์กซิสต์มาใช้ปฏิบัติ ตามรายงานของ อาซาฮี ชิมบุง หนังสือพิมพ์รายวันภาษาญี่ปุ่นที่มีสายข่าวแวดวงการทูต จ็องยังเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทั้งนี้สิ่งที่น่าจะใช้เป็นเครื่องบ่งชี้แต่เนิ่นๆ ว่า เขาจะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับจีนสักแค่ไหน ก็คือ จ็องจะเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อใดเร็วแค่ไหน และเขาจะรับมืออย่างไรกับหัวข้ออันอ่อนไหวเกี่ยวกับข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้

การที่มีอายุ 67 ปีแต่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ พคว.ได้ เนื่องจากจ็องได้รับการยกเว้นให้สามารถนั่งเก้าอี้สำคัญนี้ถึงแม้อายุพ้นวัยที่กำหนดบังคับให้ต้องเกษียณแล้ว และด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้มากที่สุดที่เขาน่าจะครองตำแหน่งนี้เพียงแค่สมัยเดียวคือ 5 ปี สภาพเช่นนี้จึงอาจทำให้เกิดการเดินหมากเตรียมการสำหรับศึกเปลี่ยนถ่ายอำนาจอีกรอบหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานปีข้างหน้า

**ใครเข้ามาและใครออกไป**

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งสูญเสียตำแหน่งสำคัญในพรรคไป คือ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ามยาเคียม (Pham Gia Khiem) เขาถูกผลักไสออกมาทั้งจากคณะกรรมการกลางพรรคชุดใหม่จำนวน 175 คน และในคณะกรรมการกรมการเมืองที่มี 14 คน ทั้งนี้คณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งถือเป็นองค์กรทำหน้าที่ตัดสินใจสูงสุดของ พคว. ในปัจจุบันไม่มีตัวแทนที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศเอาเลย

การขาดหายไปเช่นนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกให้เห็นว่า พวกนักการทูตในเวียดนามขาดไร้อิทธิพลบารมีในแวดวงการเมืองแห่งอำนาจระดับภายในประเทศ ภายหลังช่วงระยะเวลา 1 ปีที่เวียดนามได้เป็นประธานของสมาคมอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสุดยอดครั้งสำคัญๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมภาค สำหรับในคณะกรรมการกลางนั้น เวลานี้มีบุคคลจากกระทรวงการต่างประเทศเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในระดับนี้

ในอีกด้านหนึ่ง หน่วยงานกองกำลังความมั่นคง กลับมีตัวแทนของพวกตนเพิ่มมากขึ้น เป็นเครื่องส่อแสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงปลอดภัยยังคงเป็นความห่วงใยในเชิงนโยบายระดับสูงสุดอยู่ ทั้งนี้เหล่านายพลของฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหารสามารถคว้าเก้าอี้ในคณะกรรมการกลางพรรคมาได้ 9 และ 19 ที่นั่งตามลำดับ ฝ่ายตำรวจยังมีตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการกรมการเมืองเพิ่มขึ้นจาก 1 รายเป็น 2 ราย ขณะที่กองทัพก็สามารถรักษาเก้าอี้ในกรมการเมืองที่ครองอยู่โดยรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ. ฝุ่งกวางแท็ง (Phung Quang Thanh)

ในการจัดขบวนแถวกันใหม่ของคณะผู้นำของ พคว. คราวนี้ มีสิ่งที่เป็นร่องรอยสัญญาณบ่งบอกให้เห็นว่า ระบบการเมืองแบบสืบสายโลหิตกำลังก่อตัวขึ้นมาใน พคว. กล่าวคือ บุตรชายทั้งของนายกฯยวุ๋ง และของ นงดึ๊กแหม่ง (Nong Duc Manh) เลขาธิการใหญ่พรรคที่เพิ่งพ้นอำนาจไปในคราวนี้ ต่างก็ได้รับแต่งตั้งเข้านั่งอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรค พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในหมู่ลูกท่านหลานเธอของผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ที่ได้เข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญๆ

เมื่อพิจารณากันเป็นองค์รวมแล้ว การเลือกบุคลากรในคราวนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ตลอดจนความต่อเนื่องของความขัดแย้งกันเองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในนโยบายเหล่านี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจแล้ว นี่หมายความว่าวิสาหกิจภาคเอกชนจะยังต้องอยู่ร่วมกันไปอย่างไม่สบายใจนักกับพวกกิจการของภาครัฐ ภายใต้บรรยากาศโดยรวมของความไม่แน่นอนในทางนโยบาย

พวกนักลงทุนซึ่งวาดหวังที่จะเห็นสนามเล่นที่โปรงใสและราบเรียบเสมอกันมากขึ้น จะต้องรู้สึกผิดหวังจากการขึ้นมาเป็นเลขาธิการใหญ่ของจ็อง ผู้ซึ่งประกาศในที่ประชุมสมัชชา เรียกร้องสนับสนุนให้ “เครื่องมือการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์สาธารณะ” ในคำปราศรัยตอบรับการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ จ็องบอกว่าเขายังคงมุ่งมั่นผูกพันอย่างต่อเนื่องที่จะ “ผลักดันเวียดนามให้ก้าวเดินหน้าไปสู่สังคมนิยม”

ในด้านความสัมพันธ์ต่อภายนอกประเทศนั้น คณะผู้นำคอมมิวนิสต์ชุดใหม่นี้จำเป็นที่จะต้องหาทางถ่วงดุลอำนาจจีน นี่ย่อมหมายถึงการแสวงหาความสัมพันธ์ทางการทหารที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสหรัฐอเมริกา, อาเซียน, และมหาอำนาจระดับภูมิภาครายอื่นๆ เพื่อที่จะรักษาความมั่นคงแห่งชาติของเวียดนามเองเอาไว้

ขณะเดียวกัน พวกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพรรคทั้งหลายก็จะถูกขับดันด้วยสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ในแบบของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นต้นว่า การธำรงรักษาความมั่นคงภายในประเทศ, การพิสูจน์ให้เห็นว่าตนเองมีความเสมอต้นเสมอปลายในทางอุดมการณ์, และการดำเนินการตามแผนการพัฒนาในสไตล์สังคมนิยม สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจกระตุ้นให้โน้มเอียงไปในทางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับปักกิ่งที่ยังคงบริหารปกครองโดยคอมมิวนิสต์เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความยืนยาวและความถูกต้องชอบรรมของระบอบปกครองฮานอยเอง

ในระยะต่อไปภายในปีนี้ รัฐสภาเวียดนามจะเปิดการประชุมเพื่อประทับตรายางรับรองบุคคลที่ทาง พคว. คัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี โดยเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ได้แก่ เจืองเติ๋นซาง และเหวียนเติ๋นยวุ๋ง ตามลำดับ จากนั้น เลขาธิการใหญ่จ็อง ก็จะกลายเป็นผู้นำของ “คณะสาม” (เลขาธิการใหญ่จ็อง-ประธานาธิบดีซาง-นายกฯยวุ๋ง) โดยที่พวกเพื่อนร่วมงานระดับรองๆ ลงมาไม่ว่าของซางหรือของยวุ๋ง ต่างก็เชื่อว่าหัวหน้าของพวกตนต่างหากที่ควรจะได้เป็นหัวหน้าใหญ่ของ พคว. และดังนั้นการต่อสู้แก่งแย่งตำแหน่งกันจึงไม่น่าที่จะยุติลงด้วยการปิดฉากของการประชุมสมัชชาพรรคคราวนี้

เดอะ ฮานอยอิสต์ เป็นนามปากกาของนักเขียนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและประชาชนของเวียดนาม ให้แก่ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น