ASTVผู้จัดการออนไลน์-- เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ที่สำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในแขวงหลวงพระบางของลาวมาตั้งแต่ปี 2544 กล่าวว่า ได้ค้นพบหลักฐานและร่องรอยต่างๆ มากมายที่สามารถยืนยันได้ว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนลาวตั้งแต่ 11,000 ปีมาแล้ว
คณะนักวิชาการร่วมสหรัฐฯ-ลาว ยังได้นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายโครงกระดูมนุษย์ที่คาดว่าจะมีอายุกว่า 2,000 ปี ในยุคเหล็ก ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกระหว่างการประชุมสัมมนาในนครเวียงจันทน์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งโบราณวัตถุอื่นๆ อีกหลายชิ้น เช่น ถ้วยชามดินเผาและเครื่องมือที่คนในยุคนั้นใช้ในชีวิตประจำวัน
ดร.จ๊อยซ์ ไวท์ แห่งพิพิธภัณฑ์เพนน์ (Penn Museum) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการนี้ กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบร่องรอยของมนุษย์ยุคเหล็กในดินแดนลาว
การสำรวจแหล่งโบราณคดีในแขวงหลวงพระบางดำเนินมาระหว่างปี 2544-2548 ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียกับกรมมรดก กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว ที่ผ่านมานักวิชาการโบราณคดีของสองประเทศสามารถระบุแหล่งโบราณคดีได้จำนวน 69 แห่ง
การขุดค้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ในถ้ำจำนวน 4 แห่ง ในแขวงหลวงพระบาง ก่อนจะพบโครงกระดูก ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ภายในถ้ำอานม้าใกล้กับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง สำนักข่าวสารปะเทดลาวกล่าว
คณะสำรวจขุดค้นได้พบหลักฐานจำนวนมากที่บ่งบอกว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณดังกล่าว มาตั้งแต่ยุคหินหรือเป็นเวลากว่า 11,000 ปีมาแล้ว
พิพิธภัณฑ์เพนน์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กำลังพยายามศึกษาและค้นหาหลักฐาน เพื่อหาคำตอบให้กับข้อโต้แย้งที่มีมายาวนานว่า ยุคเหล็กที่มนุษย์รู้จักใช้โลหะเกิดขึ้นในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เมื่อไร สำนักข่าวของทางการกล่าว
ดร.จ๊อยซ์กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นลำน้ำที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณนี้ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก.