นายสมรังสี นำชาวบ้านและเจ้าหน้าที่พรรคฝ่ายค้านไปยังทุ่งนาที่หมู่บ้านชายแดน และพบว่าเจ้าหน้าที่เวียดนามปักปันเขตแดนเวียดนาม นำหลักหมุดปักปันเขตแดนชั่วคราวไปฝังในที่นาของราษฎร ห่างจากแนวชายแดนเข้ามาหลายร้อยเมตร นายรังสีให้สัมภาษณ์สื่อ ประกาศเจตนารมณ์ ก่อนนำเจ้าหน้าที่ถอนหลักหมุด ออกจากที่นาที่ชาวบ้านอาศัยทำกินมานานกว่า 30 ปี อันเป็นนัยยะแสดงให้เห็นว่า กัมพูชาได้เสียดินแดนให้แก่เวียดนามไปโดยไม่มีการแจ้งและอธิบายให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยมีเจตนาปกปิด และ เบี่ยงเบนความสนใจมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกไม้เก่าๆ
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ภาพเหตุการณ์ที่ชายแดนกัมพู-เวียดนาม ปรากฏชัดให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวครั้งแรก เมื่อมีผู้นำเอาวิดีโอคลิป ขึ้นโพสต์บนอินเทอร์เน็ต ประจานสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาภายใต้นายฮุนเซน ไม่อยากให้ชาวเขมร 14 ล้านคนได้รู้ ไม่อยากให้ได้ยิน และไม่มีสื่อมวลชนใดในกรุงพนมเปญรายงานเหตุการณ์นี้
วันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำฝ่ายค้านสม รังสี ได้นำคณะไปทอดกฐินยังวัดแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านเกาะกบาลกันดาล (Koh Kabal Kandal) เขตนิคมสัมโรง อ.จันเตรีย จ.สวายเรียง และ ได้พบความจริงที่ว่า เจ้าหน้าที่เวียดนามได้นำหลักหมุดปักปันเขตแดนชั่วคราว ไปปักในนาข้าวของราษฎรหมู่บ้านดังกล่าว ห่างจากแนวชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาเข้าไปหลายร้อยเมตร ซึ่งเป็นนัยแสดงให้เห็นการรุกล้ำเขตแดนของกัมพูชาอย่างเป็นระบบ
นายรังสีได้ให้สัมภาษณ์วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) ก่อนจะนำคณะถอนหลักหมุดปักปันเขตแดนทิ้งไปจำนวน 6 หลัก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้สื่อข่าวและช่างภาพอีกจำนวนหนึ่งที่ติดตามผู้นำฝ่ายค้านไปงานกฐิน แต่กลับไปที่กรุงพนมเปญ ไม่มีสื่อใดนำเสนอเรื่องนี้ทั้งภาพและข่าว รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชา ด้วย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลฮุนเซนพยายามปิดบังกรณีพิพาทชายแดนทางตะวันออก และ ไม่เคยปริปากพูดถึงสักครั้งเดียว นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีฮุนเซนยังไม่เคยเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตอบกระทู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ขณะที่ประกาศนอกสภาว่าเป็นผู้รักชาติ และจะไม่ยอมเสียดินแดนให้ผู้ใดแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ไม่เพียงแต่ไม่พูดถึงเท่านั้น รัฐบาลฮุนเซนยังพยายามกลบเกลื่อน ปกปิด และทุกครั้งที่เรื่องเช่นนี้ใกล้ปทุออกมาให้สาธารณชนได้รู้ ก็จะใช้วิธีสร้างเหตุการณ์ที่ชายแดนอีกด้านหนึ่ง ใช้สื่อต่างๆ ปลุกระดมลัทธิชาตินิยมในประเทศให้หันมาต่อต้านไทย แต่ยังไม่เคยมีการเดินขบวนต่อต้านเวียดนามแม้สักครั้งเดียวตลอด 24 ปีที่ฮุนเซนอยู่ในอำนาจ
การครอบงำทางการเมืองจากเวียดนาม ซึ่งในเดือน ม.ค.2522 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน ได้นำคณะปกครองกัมพูชาในปัจจุบันนี้ขึ้นสู่อำนาจ ได้กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลฮุนเซนมาโดยตลอด
ปี 2551 พระสงฆ์เขมร ได้จัดเดินขบวนขึ้นในกรุงพนมเปญ ประณามกรณีทางการเวียดนามออกประกาศจับพระสงฆ์ชาวขะแมร์กร็อมรูปหนึ่ง ที่อาศัยทำกินในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขง
ภิกษุ (Tim Sakorn) ได้หลบหนีเข้าไปในกัมพูชา แต่รัฐบาลฮุนเซนได้จับกุม จับสึกและส่งตัวให้ทางการเวียดนาม ถูกดำเนินคดี แต่ต่อมา "นายสาคร" ได้หลบหนีอีกครั้งหนึ่ง เข้าประเทศไทยก่อน และ ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส
การเดินขบวนของประสงฆ์ครั้งนั้นจบลงอย่างนองเลือด เมื่อรัฐบาลฮุนเซนส่งเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลเข้าสลาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งทั้งพระและฆราวาส ฐาน "ต่อต้านเวียดนาม"
ต่อเหตุการณ์วันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองภายในกัมพูชาอย่างสิ้นเชิง นายสม รังสี ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีการเงินในคณะบริหารชั่วคราว ที่องค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้น หลังการเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีสในปี 2534 เป็นนักชาตินิยมที่ต่อต้านการรุกรานของเวียดนาม และ ได้พยายามเปิดโปงเรื่องการสูญเสียดินแดนมาหลายครั้ง
ไกลออกไปในกรุงฮานอย 5 วันหลังการถอนหลักหมุดปักปันเขตแดนชั่วคราว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นางเหวียนเฟืองงา (Nguyen Phuong Nga) ได้ออกประณามการกระทำของนายรังสี อย่างแข็งกร้าว โดยกล่าวหาว่าเป็นความพยายามยั่วยุและจงใจให้เกิดความเกลียดชังต่อเวียดนาม
โฆษกของเวียดนามกล่าวว่า หลักหมุดเขตแดนดังกล่าว ซึ่งปักแสดงตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดนที่ 185 เกิดจากความพยามร่วมกันของเจ้าหน้าที่ปักปันเขตแดนทั้งสองฝ่าย แต่ราษฎรในท้องถิ่นบอกกับนายสมรังสีว่า “คณะกรรมการปักปันเขตแดน” ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เวียดนาม 10 คน และ มีเจ้าหน้าที่เขมรเพียง 1 คน
นางเฟืองงา ซึ่งเคยเป็นเลขานุการฝ่ายสื่อ สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยมาหลายปีในช่วงหลังสงครามเย็น เป็นผู้เข้าใจสภาพการณ์ต่างๆ ในความสัมพันธ์สามเส้าไทย กัมพูชา และเวียดนามเป็นอย่างดี ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮุนเซนต้องป้องกันรักษาหลักหมุดปักปันเขตแดน รวมทั้งหลักเขตแดนต่างๆ และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
รัฐบาลฮุนเซน ซึ่งโดยปกติจะตอบโต้การกล่าวหาจากประเทศไทยอย่างทันควัน หรือกระทั่งออกกล่าวหาอย่างรุนแรงในหลายโอกาส แม้จะไม่เหตุการณ์อะไรในช่วงหลายเดือนมานี้ แต่ครั้งนี้เงียบกริบไม่ตอบโต้โฆษกเวียดนาม และไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดในกรุงพนมเปญปริปากพูดถึง
นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับภาษาอังกฤษ เพียงฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ข่าวจากสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) และ เพียงสั้นๆ
กัมพูชายังคงเป็นประเทศหนึ่งที่มาตรฐานสิทธิเสรีภาพของสื่ออยู่ในระดับต่ำที่สุดในบัญชีขององค์การผู้เสื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontières)
นับตั้งแต่รัฐบาลฮุนเซนมีเสียงข้างมากในสภาหลังการเลือกตั้งเดือน ส.ค.2551 การครอบงำและปิดกั้นสื่อยิ่งหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น ตั้งแต่นั้นมามีหนังสือพิมพ์รายวันที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างน้อย 2 ฉบับต้องปิดตัวเองลง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีก 2 ฉบับถูกตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นระมาทผู้นำหรือบุคคลในรัฐบาล อีก 1 คนกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท โดยมีนายพลของกองทัพกว่า 20 คน ร่วมกันเป็นโจทย์
นักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคนหนึ่งต้องหลบหนีการปองร้ายเดินทาเข้าประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว หลังจากรายงานเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮุนเซนใช้รถบรรทุกทหารขนไม้ซุงออกจากป่า จ.เกาะกง อันเป็นการเปิดโปงการตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าสงวนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัจจุบันนักข่าวคนดังกล่าวขอลี้ภัยในประเทศสวีเดน
กรณีล่าสุดในความพยายามคุกคาม ครอบงำและปิดกั้นสื่อก็คือ เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ฮุนมะนา (Hun Mana) บุตรีคนโตของครอบครัวฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหารสถานีโทรทัศน์บายน (Bayon TV) ได้ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์กัมพูชาทะไม (Kampuchea Thmey) รายวัน ซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวข่าวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกปิดตายไปอย่างเบ็ดเสร็จ
ไม่เพียงแต่พยายามปิดปากสื่อเท่านั้น รัฐบาลฮุนเซนกำลังใช้มาตรการทางกฎหมายปิดปากฝ่ายค้าน รวมทั้งนางมู สุชาส์ (Mo Suchas) สส.ฝีปากกล้าแห่งพรรคสมรังสี ที่กำลังฎีกาโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีฮุนเซน.