ดีเอพีนิวส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์- - กรมพระนโรดมรณฤทธิ์ อดีตนักการเมืองที่มีอำนาจและมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในกัมพูชา ได้ปรากฏตัวที่ศาลกรุงพนมเปญในเช้าวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้คดีความที่พระองค์เจ้าหญิงมารีอดีตพระชายาได้ฟ้องหย่าไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2549
"ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลกรุงพนมเปญได้มีหมายเรียกถึงพระองค์ในวันที่ 22 กันยายน เพื่อทำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมความก่อนที่จะดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมาย" แหล่งข่าวเปิดเผยเรื่องนี้กับ “ดืมอัมปึล”
อย่างไรก็ตามการฟังคำสั่งศาลในคดีความครั้งนี้ มีเพียงกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ไปปรากฏพระองค์ที่ศาล แต่ พระองค์เจ้าหญิงมารี อดีตพระชายาของกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ไม่ได้เสด็จฯ ไปด้วย
"ศาลออกหมายเรียกให้พระองค์หญิงมารีตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน เพื่อขอให้ปรากฏตัวต่อศาลเพื่อไกล่เกลี่ยคดีความในวันนี้ แต่พระองค์หญิงเสด็จฯ ไปประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือน" แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว
"ข้าพเจ้ายินดีที่จะแยกทางกับพระองค์หญิงมารี และ ดูเหมือนจะซับซ้อนมาก แต่ในตอนนี้ศาลได้เริ่มพิจาณาและตรวจสอบคดีความแล้ว" กรมพระรณฤทธิ์ ตรัสกับ “ดืมอัมปึล” ทั้งยังทรงแสดงพระเจตนาว่า การเสด็จฯ ไปยังศาลก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและการให้ความร่วมมือในคดีนี้
นายหลี สุวรรณ ( Ly Sovann) ทนายความของกรมพระรณฤทธิ์ บอกกับ “โมอัมปึล” ว่า อดีตชายา สมเด็จฯ ไปประเทศไทยในวันที่ 16 ก.ย. ก่อนที่จะได้รับคำหมายเรียก
กรมพระรณฤทธิ์ทรงแสดงท่าทีที่จะยินยอมให้มีการแบ่งทรัพย์สินหากพระองค์หญิงมารียอมที่จะหย่าขาดกับพระองค์ ซึ่งสินสมรสที่อดีตพระชายาจะได้นั้น ประกอบด้วยบ้านใน จ.กันดาล (Kandal) ที่ดินที่เขาพนมวัว ใน จ.กัมโป๊ต (Kampot) และที่ดินในจังหวัดเสียมราฐ
กรมพระนโรดมรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของอดีตกษัตริย์สีหนุกับพระมารดาที่เป็นสามัญชน และเป็นพระเชษฐาต่างมารดากับกษัตริย์สีหมุนี ทรงถูกดำเนินคดีที่ทรงทำผิดกฎหมายห้ามมีชู้ โดยเจ้าหญิงมารีอดีตพระชายาได้ฟ้องร้องหลังจากทรงไปใช้ชีวิตร่วมกับพระชายาใหม่ ซึ่งเป็นนาฏศิลปินและเป็นนักแสดงภาพยนตร์
รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้ออกกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2548 ห้ามชายหรือหญิงที่สมรสแล้วมีความสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่มิใช่คู่สมรสของตนเอง หากฝ่าฝืนกระทำผิดมีโทษปรับเอาไว้ตั้งแต่ 50-250 ดอลลาร์ (2,000-10,000 บาท) กับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-12 เดือน
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาในจังหวะอันเหมาะเจาะเพื่อเล่นงานกรมพระรณฤทธิ์โดยเฉพาะ ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคฟุนซินเปก เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ทำให้พรรคของสมเด็จฯ ฮุนเซน ไม่สามารถเอาชนะมีเสียงข้างมากได้ในการเลือกตั้งปี 2546
สมเด็จฯ ฮุนเซน จับจุดอ่อนของกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ในเรื่องนี้ได้ และใช้กฎหมายในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการออกข่าวลือเกี่ยวกับคู่แข่งเป็นระยะไม่ว่าจะเป็นการสร้างข่าวลือมีสัมพันธ์สวาทกับนักแสดงสาวกคนหนึ่ง
กรมพระรณฤทธิ์ได้นำพระชายาพระองค์ใหม่กับเจ้าชายพระองค์น้อย พระโอรส ออกให้สาธารณชนรับรู้ ก่อนจะอพยพครอบครัวใหม่ไป “ลี้ภัย” ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตั้งแต่ต้นปี 2549 เพื่อหลบให้พ้นจากการถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทสมเด็จฯ ฮุนเซน รวมทั้งคดีที่กระทำผิดเกี่ยวกับชู้สาวด้วย
กรมพระรณฤทธิ์ได้เสด็จฯ กลับกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์สีหมุนี โดยการยินยอมของสมเด็จฯ ฮุนเซน และหลังจาเสด็จฯ ถึงเมืองเสียมราฐได้ไม่นานก็เสด็จฯ ไปพำนักในกรุงปักกิ่ง ในพระราชฐานที่รัฐบาลจีนจัดถวายสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระราชบิดา
เมื่อต้นปีนี้ได้มีการเปิดตัว เจ้าชายนโรดมสุธาฤทธิ์ (Norodom Sothearidh) หรือ “เจ้าชายน้อย” อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในกรุงปักกิ่ง และ อาจจะเป็นการสถาปนาองค์รัชทายาทอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่กษัตริย์สีหมุนีทรงครองโสด
ในกัมพูชามีผู้ครองบรรดาศักดิ์ “สมเด็จ” อยู่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จนโรดมนรินทรพงษ์ (Prince Norodom Narindrapong) พระเจ้าน้องยาเธอวัย 56 พรรษา ที่ทรงอาศัยในต่างประเทศมาตลอด
แต่ในปัจจุบันมีการสถาปนาสมเด็จชั้นเจ้านายทรงกรมชั้นสูงสุดเพียงพระองค์เดียว คือ กรมพระ (Krom Preah) นโรดมรณฤทธิ์ที่สืบสายเลือดสีน้ำเงินโดยตรง ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือเ จ้าชายนโรดมยุวนาถ (Norodom Yuveaneath) วัย 66 ได้รับการสถาปนาเป็น “กรมหลวง” ปัจจุบันเป็นองคมนตรี
ก่อนจะได้รับการสถาปนาขึ้นครองราชย์สืบแทนพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุพระราชบิดาในเดือน ต.ค.2547 เจ้าชายสีหมุนีทรงมีบรรดาศักดิ์เจ้านายทรงกรมชั้นกรมขุน (Krom Khun) ขณะที่ เจ้าชายรณฤทธิ์เป็นกรมพระ ซึ่งถือเป็นการขึ้นครองราชย์ “ข้ามขั้น” แต่เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระราชาขณะนั้น
ปัจจุบันกรมพระรณฤทธิ์ทรงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นประธานสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ และ วางมือทางการเมืองแล้วอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการสถาปนาอิสริยยศใดๆ แก่เจ้าชายนโรดมสุธาฤทธิ์ในขณะนี้ และ ไม่มีผู้ใดคาดคะเนได้ว่าการเมืองจะอนุญาตให้สถาบันกษัตริย์ทำเช่นนั้นได้หรือไม่.